เทียบราคาน้ำมันไทย-ประเทศในอาเซียนล่าสุด ขายถูก-แพงกว่า?

16 พ.ค. 2567 | 17:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 17:08 น.
3.6 k

เทียบราคาน้ำมันไทย-ประเทศในอาเซียนล่าสุด ขายถูก-แพงกว่า ทั้งชนิดเบนซิน และดีเซล ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว สนพ.เผยราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.

นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงภาพรวมราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในอาเซียนในเดือนเมษายน 2567 พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศ ยกเว้นประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ปรับตัวลดลง  

ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและต่างประเทศวันที่ 29 เมษายน 2567 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 80.82 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 40.35 บาทต่อลิตร 

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น ประเทศสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 73.47 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 7 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 30.94 บาทต่อลิตร 
 

อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น 

เทียบราคาน้ำมันไทยล่าสุด ขายถูก-แพงกว่าประเทศในอาเซียน?

"สนพ. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป"

นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 22% หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลดต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

ซึ่งสวนทางจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1.8 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในประเทศกลับมาดำเนินการจากการปิดซ่อมบ้ารุงในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งความกังวลด้านอุปทาน เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียด

รวมไปถึงเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากตัวเลขดัชนี PMI ยุโรปของเดือนมีนาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.4 นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกยังเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามองในด้านต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลางระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น โดยยูเครนยังคงเดินหน้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของรัสเซีย และล่าสุดได้มีการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันดิบแห่งหนึ่งในเมืองเนซนีกัมสก์ ซึ่งมีระยะห่างจากพรมแดนกว่า 1,500 กิโลเมตร 

โดยการโจมตีดังกล่าวถือเป็นการโจมตีที่ห่างจากพรมแดนมากที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อีกทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 50.8 สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 49.1 โดยตัวเลขที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน