“ว่างงาน” ไตรมาสแรก 2567 แตะ 4.1 แสนคน แห่ลาออกพุ่งเกือบ 60%

16 พ.ค. 2567 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 12:15 น.
2.3 k

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดตัวเลขสถานการณ์ว่างงาน ในไตรมาส 1 ปี 2567 ยังคงสูง กลุ่มผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษามากที่สุด โดยเหตุผลที่ออกจากงาน หรือหยุดทำงาน ส่วนใหญ่กว่า 59.25% ระบุว่า ลาออก

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า สถานการณ์การว่างงาน ในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 1% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 4.1 แสนคน 

ส่วนปัญหาการว่างงานระยะยาวหรือผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน คือลดลง 4.9% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวประมาณ 7.9 หมื่นคน

สำหรับการว่างงาน หากแบ่งตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มผู้ที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษา เป็นผู้ที่ว่างงานมากที่สุด โดยมีอัตรา 1.67% รองลงมาคือ มัธยมปลาย 1.28% มัธยมต้น 1.12% ประถม 0.58% การศึกษาอื่น ๆ 0.47% ไม่มีการศึกษา 0.32% ต่ำกว่าระดับประถม 0.13% และไม่ทราบระดับการศึกษา 0.04%

ขณะที่เหตุผลที่ออกจากงาน หรือหยุดทำงาน จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่กว่า 59.25% ระบุว่า ลาออก รองลงมาคือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ 16.16% หมดสัญญาจ้างงาน 13.15% ถูกให้ออก/ไล่ออก/ปลดออก 5.47% และอื่น ๆ 4.71%

ทั้งนี้สถานการณ์แรงงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ประชากรวัยแรงงานจำนวน 59.1 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.2 ล้านคน หรือ 68% ของประชากรวัยแรงงาน ที่เหลือเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน โดยเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม การลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น 

ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมยังคงเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวสูงถึง 10.3% แสดงให้เห็นถึงการเติบโตในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศ

สำหรับประเด็นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยในไตรมาสนี้ มีผู้เสมือนว่างงานมีประมาณ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประมาณ 3.9 แสนคน 

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบถึงผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมในไตรมาสถัดไป รวมถึงจำนวนผู้มีงานต่ำกว่าระดับ และผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น