ก.ย.นี้ ลุ้น “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา

15 พ.ค. 2567 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 16:45 น.
788

“ทางหลวง” จ่อลงนามสัญญา “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา 1 พันล้านบาท ภายในเดือนก.ย.นี้ ปักธงเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 69 ฟากที่พักริมทางบางละมุงไร้เงาเอกชนชิงซอง คาดไม่คุ้มค่าลงทุน

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา วงเงินก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท หลังจาก ทล. เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการ พบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าอาร์อี ประกอบด้วย บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (ผู้นำกลุ่ม) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวนั้น 

 

ทั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) อยู่ระหว่างสรุปผลการคัดเลือก คาดว่าจะแล้วเสร็จและลงนามสัญญากับเอกชนได้ช่วง ก.ย.67 จากนั้นเริ่มก่อสร้าง เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 68 เช่น ที่จอดรถ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่สีเขียว และ ห้องสุขา 

ก.ย.นี้ ลุ้น “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา

หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 69  ซึ่งจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ทั้งที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่จำหน่ายสินค้าและบริการ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ศูนย์บริการข้อมูลจราจรและเส้นทางการเดินทาง และการบริการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทาง 
 

สำหรับโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม.93+500 M7 ช่วงชลบุรี-พัทยา ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แบ่งพื้นที่เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งทิศทางมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพฯ และฝั่งทิศทางมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ฝั่งละ 59 ไร่

ก.ย.นี้ ลุ้น “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา

ขณะเดียวกันโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) รูปแบบ PPP Net Cost โดย ทล. ส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์บริหารจัดการเชิงพาณิชย์ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้โครงการ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้ ทล. ตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งงาน 2 ระยะ ดังนี้

ก.ย.นี้ ลุ้น “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ เป็นไปตามเงื่อนไข และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ส่วนระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา การบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี หากรวมค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี วงเงินลงทุนโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา วงเงิน 3,757 ล้านบาท 
 

รายงานข่าวจากทล.กล่าวต่อว่า โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง วงเงินก่อสร้าง 800 ล้านบาท หลังจากที่ไม่มีเอกชนสนใจยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน คาดว่าขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก มีผู้ใช้ทางผ่านไม่มาก ทำให้ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น ขณะนี้ ทล. อยู่ระหว่างทบทวนแนวทางดำเนินการต่อไป 

ก.ย.นี้ ลุ้น “ปตท.-ซีพี” คว้าประมูล ที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ศรีราชา

ทั้งนี้โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณ กม.137+100 M7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด อยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่ และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี แบ่งพื้นที่เป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งทิศทางมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพฯ และฝั่งทิศทางมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ฝั่งละ 38 ไร่

 

นอกจากนี้โครงการฯเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เหมือนกับโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 2 ปี และ ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี วงเงินลงทุนสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง 2,476 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 จำนวน 250,000 คันต่อวัน เมื่อโครงการแล้วเสร็จช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและยกระดับการให้บริการระบบมอเตอร์เวย์สู่มาตรฐานสากล ใช้เป็นจุดแวะพักที่ผู้เดินทางสามารถพักผ่อนอิริยาบทจากการเดินทาง ทำธุระส่วนตัว ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากความเหนื่อยล้าหรือหลับในของผู้ขับขี่ ช่วยให้ผู้ใช้ทางประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้า-ออกมอเตอร์เวย์โดยไม่จำเป็น