"มาตรการชะลอเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง" 66/67 สำนักงบ-สศช. เตือนใช้เงินรอบคอบ

15 พ.ค. 2567 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 10:22 น.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผนึก สำนักงบประมาณ เตือนรัฐใช้เงินทำมาตรการชะลอเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 ต้องรอบคอบ ใช้งบอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามกฎหมาย

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อกับเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท หรือ ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ไร่ละไม่เกิน 2,500 บาท โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 3,255 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 30 เมษายน 2568 นั้น

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงบประมาณ พิจารณาแล้วมีความเห็นเพิ่มเติม โดย สศช. เห็นว่า กระทรวงพาณิชย์ ควรติดตามกำกับการดำเนินการให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของมาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ 

โดยในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณ แหล่งเงิน และแนวทางดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้เป็นไปตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ควรร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่างที่ยังคงมีการระบาดในหลายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง

จึงจำเป็นต้องเร่งการขยายพันธุ์ทนทานและพันธุ์ต้านทานให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรและทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และการกำหนดราคาการซื้อ - ขายที่เป็นธรรมสอดคล้องกับคุณภาพของสินค้า และเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนำเข้าให้ได้ตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนดและเร่งแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ถูกต้อง 

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศไทย มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับความสามารถของเกษตรกรบริหารความเสี่ยงและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด ซึ่งจะช่วยลดภาระการคลังในการอุดหนุนของภาครัฐลงในอนาคต และสอดคล้องกับมติครม.เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การจัดทำมาตรการโครงการเพื่อสนับสนุนหรือ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

 

ภาพประกอบข่าว มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 ผ่านมติครม.

ด้าน สำนักงบประมาณ เห็นว่า เนื่องจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวรัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เข้าข่ายการดำเนินการตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงเห็นสมควรพิจารณาให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป 

ทั้งนี้ เห็นควรให้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำระบบหรือกลไกในการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ซ้ำซ้อน และทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของข้อมูลด้านการลงทะเบียนเกษตรกร จำนวนเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อไร่ จำนวนพื้นที่เพาะปลูก 

รวมทั้งพิจารณาดำเนินการในพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายอื่น รวมทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่หน่วยงานของรัฐออกให้เพื่อทำการเกษตร ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 (เรื่อง เอกสิทธิ์และสิทธิครอบครองประกอบการออกใบรับรองเกษตรกร) 

พร้อมทั้งกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของมันสำปะหลังในพื้นที่ผิดกฎหมาย และจัดทำระบบในการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมมาตรการฯ ให้ชะลอการเก็บเกี่ยวตามวัตถุประสงค์ของมาตรการฯ ที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ยังต้องจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินการเพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารงานอย่างถูกต้องครบถ้วนสำหรับประกอบการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมและยั่งยืนด้วย