ขจัดบัญชีม้า ต้องจัดการจนท.รัฐที่สนับสนุน ทำลายขบวนการฟอกเงิน

15 พ.ค. 2567 | 06:54 น.

ปัญหาบัญชีม้า และอาชญากรรมทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการเปิดบัญชีนิติบุคคล และใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการโอนเงิน ทำให้การติดตามยึดเงินคืนทำได้ยาก

KEY

POINTS

  • ปัญหาบัญชีม้า และอาชญากรรมทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการปรับวิธีการเปิดบัญชีนิติบุคคล และใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการโอนเงิน ทำให้การติดตามยึดเงินคืนทำได้ยาก
  • การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบ ลดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหาย 
  • บัญชีม้าเปรียบเหมือนใบไม้ของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ การแก้ปัญหาต้องจัดการที่ราก นั่นคือขบวนการฟอกเงิน และการมีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนให้การสนับสนุน และต้องตามทันเทคโนโลยีของผู้ร้าย

จากสถานการณ์อาชาญากรรมทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น สถิติการหลอกลวงและบัญชีม้าเพิ่มขึ้นแม้ในปัจจุบันหลายภาคส่วนจะออกมาตรการมากำกับดูแลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอัตราโทษจากการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ถึงสถานการณ์บัญชีม้า และอาชญากรรมทางไซเบอร์

พ.ต.ท.ธนธัส เปิดเผยว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทำในขณะนี้คือการขยายความ จากทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ไปจนถึง สหรัฐอเมริกายุโรปและประเทศอื่นๆ เนื่องจากเมื่อเป็นคดีไซเบอร์จะต้องไม่มีพรมแดน และต้องมีการประสานความร่วมมือกับทุกประเทศ ต้องมีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน  

เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทาง ของอาชญากรระดับโลก ที่จะนำเงินที่ได้จากการก่ออาชญากรรมมาใช้จ่ายในประเทศไทย  มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการมาลงทุน ในประเทศไทย ซึ่งหากคนไทยต้องทำธุรกิจแข่งกับคนที่มีเงินอย่างไม่จำกัดอย่างไรเราก็แพ้ ส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ

ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาชญากรกลุ่มนี้ได้หลบหนีเข้ามายังประเทศไทย แต่หากจะดำเนินการจับกุมตัวการใหญ่ที่อยู่ในต่างประเทศ จะต้องเกิดการประสานความร่วมมือ และต้องพึ่งรัฐศาสตร์การทูต

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องบัญชีมา และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ต้องมีความร่วมมือมากกว่าแค่ ตำรวจ กสทช. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศ ซึ่งต้องเกิดข้อตกลงร่วมกัน

ขจัดบัญชีม้า ต้องจัดการจนท.รัฐที่สนับสนุน ทำลายขบวนการฟอกเงิน

ในขณะที่ต่างประเทศ กำลังพูดถึงการนำเอไอ และเทคโนโลยีมาใช้ในการปราบปราม เหตุอาชญากรรม แต่ประเทศไทยยังมีข้อถกเถียงเรื่องของระเบียบราชการ ซึ่งควรต้องมาพิจารณาในจุดนี้ว่า หากผิดระเบียบราชการหรือติดขัดข้อใดแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนมากขึ้น ต้องใช้เวลามากขึ้น ควรต้องพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบเหล่านั้นหรือไม่

ต้องยอมรับว่าอาชญากร หรือมิจฉาชีพมีการปรับตัว และมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลังสามารถจับกุมบัญชีม้าที่เป็นนิติบุคคลได้เพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเพราะประชาชนมีความรู้แล้วว่าต้องตรวจสอบบัญชีรับโอน ว่าเป็นบัญชีบุคคลหรือบัญชีนิติบุคคล ประกอบกับการโอนเงินเกิน 50,000 บาทต้องทำการสแกนใบหน้า

กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จึงปรับเปลี่ยนวิธี ด้วยการเปิดบัญชีม้านิติบุคคลขึ้นมา โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งสถิติการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านมาพบว่า ในบางคดีมีการเปิดบัญชีนิติบุคคลมากถึง 40 บัญชีเพื่อทำการหลอกลวงในเคสเดียว

และเมื่อตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัท บางครั้งเป็นเพียงกระต๊อบบ้าง เป็นที่รกร้างว่างเปล่าบ้าง หรือเป็นบ้านร้างก็มี หรือบางกรณีเจ้าของบ้านไม่รู้เรื่องด้วยว่าถูกนำเอาที่อยู่ของตนเอง ไปแอบอ้างจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตรวจสอบรายชื่อกรรมการของบริษัทมิจฉาชีพเหล่านี้ พบว่ากว่า 90% มีประวัติเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มีประวัติอาชญากรรมมาก่อน แต่ยากต่อการตรวจสอบของประชาชนก่อนโอน สิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไป

ขจัดบัญชีม้า ต้องจัดการจนท.รัฐที่สนับสนุน ทำลายขบวนการฟอกเงิน

จากฐานข้อมูลของตำรวจไซเบอร์ยังพบอีกด้วยว่ากว่า 90% ของคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะขบวนการหลอกลงทุน หลอกให้ทำภารกิจ หรือซื้อขายของออนไลน์ ล้วนเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เปรียบเทียบได้ว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คือลำต้นของต้นไม้ คอลเซ็นเตอร์คือกิ่งหนึ่ง หลอกลงทุนคืออีกกิ่งหนึ่ง หลอกทำภารกิจคืออีกก้านหนึ่ง และบัญชีม้าก็เปรียบเหมือนใบไม้

ส่วนรากของต้นไม้คือขบวนการฟอกเงินต่างๆ และการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนให้การสนับสนุน หรือมีกลวิธีใหม่ๆเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการบริหารจัดการ ขององค์กรอาชญากรรม 

จากบัญชีม้าบุคคล มาสู่บัญชีม้านิติบุคคล และล่าสุดมีบัญชีม้าไฮบริด คือแปลงเงินที่ได้จากการประทุษร้ายไปอยู่ในรูปแบบเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีมากกว่า 90% ผ่าน Peer to Peer (P2P) ซึ่งหากเป็นการโอนเข้าสู่บัญชีไม่ระบุตัวตนสักบัญชีหนึ่ง ก็ไม่สามารถยึดเงินคืนได้แล้ว

จึงจะเห็นได้ว่าแม้ปัจจุบัน มีพ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่มีการเพิ่มโทษทั้งปรับและจำคุกสำหรับผู้เปิดบัญชีม้า ซิมม้า แต่ทำไมคนกระทำความผิดด้วยการเปิดบัญชีม้า ซิมม้ายังเพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นเพราะ คนบางคนไม่ได้กลัวการลงโทษ แต่กลัวไม่มีข้าวกิน กลัวการอดตายมากกว่า

จากสถิติการจับกุมพบว่าในบางหมู่บ้านที่อยู่ตามรอยต่อชายแดน มีการเปิดบัญชีม้ากันครึ่งหมู่บ้าน เพราะเป็นการชักชวนแบบปากต่อปาก จากคนที่เป็นที่รู้จักในชุมชน ได้รับความเชื่อถือ มีการหว่านล้อม เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีความละเอียดอ่อน

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องมาหา solution ที่เป็นทางออกร่วมกัน แต่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แยกเป็นส่วนๆ มันไม่ได้ ต้องมานั่งรวมกันจริงๆ มานั่งถกกันและสรุปความคืบหน้า กำหนด time frame ร่วมกัน ว่าจะเสร็จภายในเมื่อไหร่ ไม่ใช่แก้กันไปเรื่อยๆ

และการเพิ่มความเข้มงวด หรือยกระดับมาตรการการต้องให้เกิดความสมดุล ไม่ให้เป็นการกระทบกับนักลงทุนจริงๆ อาจต้องมีศูนย์ปฏิบัติการร่วมกัน ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมานั่งทำงานด้วยกันในศูนย์นี้เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้การยับยั้งความเสียหายเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากขึ้น

เชื่อว่า ต่อไปการเปิดบัญชีอาจจะถูกแบ่งออกเป็นหลายระดับ เป็นการประเมินความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่นหากไม่เคยมีเงินฝากเลย หรือมีเงินฝากเพียงหลักร้อย หลักพันบาท หากจู่ๆมีรายการโอนเงินเข้าออกเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เช่นนี้จะต้องมีการตรวจสอบ หรือแบ่งระดับการเปิดบัญชี

ปัจจุบันนี้ทางตำรวจไซเบอร์ได้มีการส่งรายชื่อบัญชีที่มีการกระทำความผิดเป็นประจำ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง)ประเมิน เพื่อนำไปสู่การระงับบัญชีของบุคคลเหล่านั้นจนกว่าจะมีการเข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ และยังมีการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ธปท. กสทช. ผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เพราะต้องใช้อำนาจบางอย่างที่ต้องไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ