สศช.แนะนโยบาย “การเงิน-การคลัง” สอดประสาน ทางออกประคองเศรษฐกิจ

10 พ.ค. 2567 | 06:33 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แนะนำแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปี 2567 นโยบาย “การเงิน-การคลัง” ต้องสอดประสานกัน

KEY

POINTS

  • เลขาธิการ สศช. ประเมินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 ชี้ภาพใหญ่ ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน และการคลังต้องเดินไปด้วยกัน
  • มอง 2 สถานการณ์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ภายนอกประเทศ และภายในประเทศ เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ไม่ตามหวัง
  • ยอมรับต้องหาทางประคับประคองกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องที่มีไม่มากนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ผ่านนโยบายทางด้านการเงิน
  • เรื่องสำคัญอีกอย่าง ต้องหาทางขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะงบลงทุนปี 2567-2568
     

อุณหภูมิเศรษฐกิจไทย น่าจะคลายความร้อนระอุลงได้ไม่น้อย ภายหลังหัวหน้าทีมเศรษฐกิจป้ายแดง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศพร้อมเคลียร์ใจ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางออกร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังเกิดรอยร้าวขึ้นเนื่องจากนโยบาย “การเงิน-การคลัง” สวนกันไปคนละทิศ 

สัญญาณที่เกิดขึ้น น่าจะส่งผลเชิงบวกไม่น้อยหากทั้งฝั่งรัฐบาล และแบงก์ชาติจับเข่าคุย และได้ทางออกร่วมกันอย่างราบรื่น ภายใต้เหตุผลของแต่ละฝ่ายที่มีจุดกึ่งกลางที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากอย่างแท้จริง นั่นเพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่รอดตลอดปี 2567 นี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

นั่นเพราะมีปัจจัยเสี่ยงมากมายคอยถาโถม ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า และมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับสถานการณ์ภายในประเทศที่ยังมีปัญหาสะสมจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รวมไปถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาจไม่ได้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายมากนัก

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เล่าถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่น่าจับตาในช่วงนับจากนี้หลายเรื่อง โดยเลขาฯ สศช. ยอมรับว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567 ภาพใหญ่เรื่องนโยบายการเงินและการคลังต้องเดินไปด้วยกัน 

“ฝั่งหนึ่งคือเรื่องการพัฒนา อีกฝั่งเป็นเรื่องของเสถียรภาพ บางช่วงเวลาอาจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพ แต่บางช่วงก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนา ตรงนี้ก็ต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อปรับจูนเข้าหากัน ซึ่งกรณีที่รองนายกฯ จะคุยธปท.เพื่อหารือรายละเอียดก็เป็นเรื่องที่ดีที่เข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายและปรับการทำงานเข้าหากัน น่าจะทำให้ในช่วงถัดไปเป็นไปได้ดีขึ้น และสอดรับกันมากขึ้น” เลขาฯ สศช. ระบุ

เช็คสถานการณ์ทั้งใน-นอกประเทศ

นายดนุชา ระบุว่า สถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในตอนนี้มี 2 ส่วนหลัก ๆ ทั้งสถานการณ์ภายนอกประเทศ หลังจากมีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และยังมีความไม่แน่นอนสูง และอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังคงผันผวน ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวได้ไม่ตามที่คาดหวังไว้ หลังเกิดปัญหาเรื่องต่าง ๆ เช่น ความล่าช้างบประมาณการส่งออกอาจปรับตัวดีขึ้นบางช่วงเวลา แต่บางช่วงเวลาอาจจะไม่ดี 

ดังนั้นในแง่ของนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต เห็นว่า ยังทำได้หลายเรื่อง โดยเรื่องที่รัฐบาลทำไปแล้ว เช่น กระตุ้นท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือการหาตลาดส่งออกใหม่ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ 

แต่หากมองลงไปถึงปัจจัยภายในประเทศ ขณะนี้พบว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงที่สูง จนส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของคนเริ่มจะมีสภาพคล่องไม่ดีนัก โดยเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง 

ดังนั้นในแง่ของการพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ ต้องมองให้สอดคล้องกันทั้งสองด้าน นั่นคือ ด้านเสถียรภาพ และการพัฒนา โดยต้องร่วมกันพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ชัดเจน พิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้เห็นมุมมองของคนทำนโยบายให้เข้าใจว่า จะทำยังไงให้เดินหน้าไปด้วยกัน

ต้องหาทางเพิ่มสภาพคล่อง

เลขาฯ สศช. ยอมรับว่า เรื่องหนึ่งที่สำคัญกับการประคับประคองกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องที่มีไม่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องที่ดี ภายหลังจากสมาคมธนาคารไทย ประชุมร่วมกันมีมติลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs เป็นเวลา 6 เดือน 

“การลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ลงมา 0.25% เป็นเรื่องที่ดีที่ต้องขอบคุณสถาบันการเงิน และถ้านโยบายภาพใหญ่สามารถทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ครัวเรือนจะมีสภาพคล่องมากขึ้น แบงก์แต่ละแบงก์ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร โดยเห็นว่าด้วยภาวะแบบนี้แบงก์พาณิชย์จะต้องออกมาช่วยมากขึ้น และ ธปท.ก็ช่วยหารือในส่วนนี้ได้”

เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ดีในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีผลบังคับใช้แล้วนั้น เห็นว่า จะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัว “G” นั่นคือ การบริโภคภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐ ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะงบลงทุน คาดว่าจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 5.1 แสนล้านบาท โดยมาจากงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่คงเหลือรอเบิกจ่ายซึ่งรวมทั้งงบประมาณในโครงการใหม่ และงบผูกพันวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท

พร้อมกันนี้เพื่อขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบให้ตรงเป้าหมาย กรมบัญชีกลาง ยังได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณ เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เงินก้อนใหม่เข้าระบบเร็วขึ้น และยังช่วยลดระยะเวลาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างลงด้วย

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 9.08 แสนล้านบาท คาดว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม -ธันวาคม 2567) น่าจะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 10-15% หรือคิดเป็นวงเงิน 9,000  - 10,000 ล้านบาท งบในส่วนนี้น่าจะช่วยขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐต่อไปได้   

นอกจากนี้ยังมีเงินที่รัฐบาลจะจัดสรรลงไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2568 ผ่านกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะมีวงเงินจัดสรรลงไปอีกประมาณ 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละกระทรวงจะมีการเสนอขอจัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของแต่ละจังหวัดต่อไปด้วย