ท่องเที่ยวไทยติดหล่ม เที่ยวกระจุก เงินไม่สะพัดทั่วไทย

18 พ.ค. 2567 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 09:07 น.
621

ท่องเที่ยวไทยติดหล่ม นักท่องเที่ยวเที่ยวไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเที่ยวเฉพาะในเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รายได้ท่องเที่ยวของประเทศไทยกระจุกตัว เงินไม่สะพัดทั่วไทย

การท่องเที่ยวของไทย แม้กำลังทยอยไต่ระดับการสร้างรายได้ให้กลับมาใกล้เคียงปีก่อนเกิดโควิด โดยในปี 2566 ไทยมีรายได้ท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านล้านบาท แม้ยังห่างจากปี 2562 ราว 9 แสนล้านบาท แต่ความแตกต่าง คือ ไทยเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเข้าไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการปรับราคาห้องพักของโรงแรมระดับ 5 ดาวที่เกินก่อนเกิดโควิดไปแล้ว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่าเดิมก็ตาม ซึ่งก็ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ดี

แต่การท่องเที่ยวไทยก็ยังมีปัญหาหลักที่ยังแก้ไม่ตก คือ การกระจุกตัวของการท่องเที่ยว ที่จะเที่ยวกันอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักไม่กี่จังหวัดเท่านั้น ทำให้รายได้ไม่กระจาย เป็นปัญหาเรื้อรัง โดยการท่องเที่ยวรายจังหวัดปี 2566 จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ใน 77 จังหวัดของไทย มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนับรวมนักท่องเที่ยว (พักค้างคืน) และนักทัศนาจร (ไม่ค้างคืน) พบว่าอยู่ที่ 315 ล้านคน ขยายตัว 40.34% จากปี 2565 เห็นชัดเจนว่า การเดินทางท่องเที่ยวก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเมืองหลัก

10 จังหวัดของไทยที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุด

ทั้งนี้หากเทียบกับสัดส่วนทั้งประเทศ จะพบว่าจังหวัดที่มีผู้เยี่ยมเยือนมากที่สุดใน 10 อันดับ ก็ยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ สุงสุดคิดเป็นสัดส่วน 17.83% ตามมาด้วย ชลบุรี 7.37% กาญจนบุรี 4.58% ภูเก็ต 3.58% ประจวบคีรีขันธ์ 3.53% เพชรบุรี 3.43% เชียงใหม่ 3.38% พระนครศรีอยุธยา 3.25% ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเกิน 10 ล้านคนต่อปี

ขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรายจังหวัด ในปีที่ผ่านมารวม 77 จังหวัดอยู่ที่ราว 2.17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 100.44% จากปี 2565 ซึ่งก็พบว่าจังหวัดที่มีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนมากที่สุดใน 10 อันดับ ก็จะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ สูงสุด 34.51% หากเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศ ตามมาด้วย ภูเก็ต อยู่ที่ 17.85% ชลบุรี 10.71% เชียงใหม่ 4.10% สุราษฎร์ธานี 3.98%

สำหรับการท่องเที่ยวรายจังหวัดช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 2567 นี้ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนแม้จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนอยู่ที่ราว 60 ล้านคน สร้างรายได้ราว 3.90 แสนล้านบาท แต่ในแง่ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้ จากผู้เยี่ยมเยือน ก็ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก ที่ไม่ต่างจากเดิม

การท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 ล้านคนต่อปี มีอยู่ทั้งหมด 22 จังหวัด ส่วนอีก 55 จังหวัดล้วนเป็นเมืองท่องเที่ยวรอง โดยอยู่ใน ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคอีสาน 18 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยว จะอยู่ในเมืองหลักคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% เมืองรองอยู่ที่ราว 20%

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เป็นทั้งคนไทยและต่างชาติ หากจะเลือกใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ก็อยากไปเที่ยวเมืองหลักมากกว่า เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเป็นแรงดึงดูด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามดึงจุดเด่นของเมืองรอง มาโปรโมทดึงคนเข้าไปเที่ยวมากขึ้น

อย่างในปีนี้ก็ชูจุดขาย “365 วัน มหัศจรรย์ เที่ยวเมืองรอง” เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม ภายใต้แคมเปญสื่อสารตลาดในประเทศ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะการเที่ยวเมืองรอง ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งต่างๆ ที่ไม่สะดวกในการเดินทางเข้าถึงได้ง่ายเหมือนเมืองหลัก หรือแม้แต่จำนวนโรงแรม ส่วนใหญ่ก็จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักมากกว่าเมืองรอง เพราะคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า

ดังนั้นการจะผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรอง จำเป็นต้องบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบการคมนาคมขนส่งต่างๆ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นในโครงการที่จะเกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนท่องเที่ยว 2025 ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นทัวริสซึม ฮับ  นอกจากดึงจุดเด่นใน 5 สิ่งที่ต้องทำในเมืองไทย คือ มวยไทย อาหารไทย วัฒนธรรมไทย ผ้าไทย โชว์ไทย มาสร้างเป็นจุดขายใน 77 จังหวัด อาทิ อร่อยได้ทั่วไทยกับ 77 อาหารถิ่น 77 ขนมไทย เมนูเด็ดประจำจังหวัด ที่จะโปรโมทผ่าน QR Code และ Augmented Reality การท่องเที่ยวสายศรัทธา สายมู

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางจากเมืองหลักกระจายสู่เมืองรอง ที่จะนำร่องใน 5 เส้นทาง ได้แก่

  1. Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมล้านนา
  2.  Unesco Heritage Trial สุโขทัย-กำแพงเพชร-นครราชสีมา มรดกไทย มรดกโลก
  3.  Naga Legacy นครพนม-สกลนคร-บึงกาฬ ตามรอยศรัทธาพญานาคค้นพบวิถีชีวิต ความเชื่อท้องถิ่น
  4.  Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล
  5. The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาสใต้สุดแห่งสยามมนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒนธรรม ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน

โครงการเหล่านี้แม้อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่ก็เป็นแรงกระตุ้นให้คนอยากเที่ยวเมืองรองได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองรองเพิ่มขึ้น ซัพพลายการลงทุนของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของเอกชนก็จะเกิดขึ้นตามมา บางเมืองรองก็จะถูกยกระดับกลายเป็นเมืองหลักได้เช่นกัน แม้อาจจะต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม