ไมโครซอฟท์ ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรก จุดเปลี่ยนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

01 พ.ค. 2567 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2567 | 16:35 น.
1.1 k

ผลการเดินสายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะเซลล์แมนประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนและบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนในไทยนั้นเริ่มออกดอกออกผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

โดยการเดินทางมาเยือนประเทศไทยล่าสุด ของนายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน ในงาน Microsoft Build: AI Day ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาร่วมกล่าวเปิดงาน

ไมโครซอฟท์ ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรก จุดเปลี่ยนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

และมีซีอีโอชั้นนำของประเทศ อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) , นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ รวมถึงกลุ่มนักพัฒนาในประเทศไทยเช้าร่วมงานกว่า 2,000 คน เข้าร่วมงานนั้นถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นการลงทุนของไมโครซอฟท์ที่มีต่อประเทศไทย

 

นายสัตยา นาเดลลา  ประกาศบนเวทีงาน Microsoft Build: AI Day  ไมโครซอฟท์ จะลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของไมโครซอฟท์ให้กว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น มอบเสถียรภาพและสมรรถนะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กรมากยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน

ไมโครซอฟท์ ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรก จุดเปลี่ยนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

แผนการขยายโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว สอดรับกับแนวโน้มความต้องการใช้งานบริการคลาวด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ทั้งจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และหน่วยงานของภาครัฐ และยังจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยี AI ล่าสุด

การชยายการลงทุนเพิ่มเติมของไมโครซอฟท์ ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยและเป็นการต่อยอดจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ไมโครซอฟท์ได้ลงนามกับรัฐบาลไทย เมื่อครั้งการประชุม APEC 2023 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา  โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีกรอบความร่วมมือครอบคลุม  4 ด้าน คือ

- ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล  โดยไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

- ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI   โดยไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

- เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า  โดยไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

- ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

นายสัตยา ยังกล่าวถึง“วิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง’ ของไมโครซอฟท์ ว่ามีเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการสรรค์สร้างนวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” 

 “ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย”

ไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชากรกว่า 2.5 ล้านคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้าน AI โดยการฝึกอบรมและมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและกลุ่มผู้สนใจในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สำหรับในประเทศไทย แผนงานด้านการเสริมทักษะของไมโครซอฟท์ในระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน

วงการเชื่อเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้าน

สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์นั้นถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย  แม้ยังไม่ประกาศตัวเลขการลงทุนชัดเจน  แต่คนในวงการเทคโนโลยีคาดการณ์ว่า การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้เม็ดเงินการลงทุนไม่ต่ำกว่า  1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ     หรือ  มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท   โดยไมโครซอฟท์จะเลือกการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในพื้นที่  เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  หรือ อีอีซี    การมีดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์  รวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์ยักษ์ใหญ่ในไทยจะทำให้เกิดการแข่งขัน  และราคาถูกลง   ขณะที่ไมโครซอฟท์จะได้รับประโยชน์จากการมีดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย  นอกจากการให้บริการกับลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นจากการใช้โครงข่ายในประเทศรับส่งข้อมูล   นักพัฒนาซอฟต์แวร์มีเครื่องไม้เครื่องมือระดับโลกใช้งานรวดเร็วขึ้น   ไมโครซอฟท์ยังสามารถให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐได้   จากเดิมมีข้อจำกัดไม่สามารถให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐได้  เพราะดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ต่างประเทศทำให้ข้อมูลวิ่งออกนอกประเทศ

อนึ่งก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ ประกาศแผนลงทุนระยะเวลา 4 ปี ในอินโดนีเซีย รวมมูลค่ากว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 63,000 ล้านบาท และ ไมโครซอฟท์ ประกาศร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น วางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมูลค่ารวม ลงทุน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.05 แสนล้านบาท   รวมถึงการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล

ไมโครซอฟท์ ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรก จุดเปลี่ยนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี   กล่าวว่า AI คือ อนาคตของโลก และรัฐบาลจะผลักดันอุตสาหกรรม AI อย่างเต็มที่ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งการเชื่อมต่อทางมือถือ บรอดแบรนด์ สัญญาณผ่านเคเบิลใต้น้ำ และโครงสร้างพื้นฐานของ 5G  และรัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อในศักยภาพความพร้อมที่จะเป็น Data and AI Center พลิกโฉมประเทศสู่การเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาค

ในการดึงดูดการลงทุน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว ตามเป้าที่เราจะมีสัดส่วนพลังงานสีเขียวร้อยละ 50 ภายในปี 2583 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่อง carbon neutrality และ zero emission 

การลงทุนของไมโครซอฟท์ ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน สร้างการเติบโตของเศรฐกิจ คนไทยจะได้มีโอกาสยกระดับทักษะและฝีมือด้วยการทำงานในบริษัทระดับโลก นี่คืออนาคตของทุกคน