โบกมือลา "อร่อยดี" ร้านอาหารจานด่วน CRG ประกาศปิดถาวร

30 เม.ย. 2567 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2567 | 16:20 น.
892

ไม่ได้ไปต่อ "อร่อยดี" แบรนด์ร้านอาหารจานด่วน "เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป" ประกาศปิดทุกสาขาถาวร มีผลวันนี้ 30 เมษายน 2567

หลังจากเพจเฟซบุ๊ค Aroi Dee Restaurant ของร้านอาหารจานด่วน "อร่อยดี" โดยบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด  (Central Restaurants Group) หรือ CRG โพสต์ข้อความระบุว่า แจ้งปิดบริการร้านอร่อยดี ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ขอขอบคุณตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่ทุกท่านให้ความไว้วางใจและมาใช้บริการอร่อยดี

โบกมือลา \"อร่อยดี\" ร้านอาหารจานด่วน CRG ประกาศปิดถาวร

ล่าสุดพบว่า เพจดังกล่าวได้ลบโพสต์ข้อความนี้ออกไปแล้ว หลังจากที่มีผู้สอบถามเข้าไป และบริษัท หวั่นว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์

ทั้งนี้จากการสอบถามไปยัง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ CRG ผู้บริหารร้านอร่อยดี ระบุว่า บริษัทมีแผนปิดดำเนินการร้านอร่อยดีจริง เนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเลือกที่จะโฟกัส ไปที่แบรนด์ที่มีศักยภาพมากกว่า 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 กลุ่มซีอาร์จี มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือจำนวน 20 แบรนด์ ประกอบด้วย มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง ราเมน (Chabuton), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), เทอเรสซ์ เดอ บางกอก (Terraces De Bangkok), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya),

เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya), เกาลูน (Kowlune), สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory), บราวน์ คาเฟ่  (Brown Café), อาริกาโตะ (Arigato), ส้มตำนัว (Somtamnua), ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi), ราเมน คาเกทสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi), นักล่าหมูกระทะ (Nak-La Mookata) และ คีอานิ (Kiani) 

"ร้านอร่อยดี" ถือเป็นโมเดลร้านอาหารไทยจานด่วน สไตล์สตรีทฟู้ด ที่ CRG นำร่องขึ้น โดยชูจุดขายอาหารไทยที่คุ้นเคย เปิดทำเลใกล้คุณ เช่น ข้าวผัดกะเพรา ข้าวผัดรถไฟ ผัดมาม่าใส่ไข่ เป็นต้น เพื่อเจาะนักชิมระดับตลาดแมสที่สามารถควักกระเป๋าจ่ายได้ทั่วไป เฉกเช่นร้านอาหารตามสั่งริมถนน  โดยเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2562 พร้อมขยายสาขาเข้าไปอยู่ตามอาคารพาณิชย์  แหล่งชุมชน  ตลาดสด  โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีสาขาในปีแรก 25 แห่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล และเพิ่มเป็น 300 แห่งภายในปี 2568  ทั้งในรูปแบบที่บริษัทลงทุนเอง และการขายแฟรนไชส์

โบกมือลา \"อร่อยดี\" ร้านอาหารจานด่วน CRG ประกาศปิดถาวร

โดยร้านอร่อยดี เริ่มขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ในปี 2563 โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 1.3 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 6 ปี โดยมุ่งเป้าขยายสาขาในทำเลต่างๆ อาทิ Non Mall, Residential Area, Stand alone แหล่งชุมชน เช่น โรงเรียน หมู่บ้าน  ฯลฯ โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีสาขาแฟรนไชส์ในปีแรก 35 แห่ง และเพิ่มเป็น 45 แห่งต่อปีในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ 

โบกมือลา \"อร่อยดี\" ร้านอาหารจานด่วน CRG ประกาศปิดถาวร

ต่อมาในปี 2564 "ร้านอร่อยดี" เปิดตัวโมเดลใหม่ ในรูปแบบ "คีออส" (Kiosk) ภายใต้ชื่อ "AroiDee Kiosk" สาขาแรก ณ ปั้ม ปตท. วิภาวดี 11 ในเดือนเมษายน โดยเน้นจำหน่ายเมนูสำหรับนักเดินทาง เช่น เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ & หมูทอด, Shanghai Moon อาอี๊ เตาทึงร้อน – เย็น ต้นตำรับเยาวราชกว่า 40 ปี  ฯลฯ พร้อมเปิดขายแฟรนไชส์โมเดลนี้ในราคา 1.8-2 แสนบาท และตั้งเป้าหมายที่จะมีสาขาคีออสนี้ 20 แห่งในปีแรก 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่ง "ร้านอร่อยดี" ก็เช่นกัน ทำให้แผนการขยายธุรกิจต้องชะงักงันตามไปด้วย 

จากข้อมูลรายงานผลประกอบการประจำปี 2566 ของ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) บริษัทแม่ของกลุ่ม CRG พบว่า ข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บ่งชี้ว่า CRG มีจำนวนร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 1,621 แห่ง เพิ่มขึ้น 41 แห่งจากปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้านรายได้รวม CRG สามารถทำรายได้ไปกว่า 14,500 ล้านบาทในปี 2566 เติบโต 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

โบกมือลา \"อร่อยดี\" ร้านอาหารจานด่วน CRG ประกาศปิดถาวร

ขณะที่ร้านอร่อยดี มีสาขาเหลืออยู่เพียง 11 แห่ง จากเดิม 30 แห่ง เมื่อสิ้นปี 2565 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะถดถอยของธุรกิจร้านอาหารดังกล่าวตัวเลขนี้ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมของกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือ CRG