ตลาดร้านอาหารที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณบวกที่ส่งต่อมายังปี 2567 โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารจะมีการเติบโตราว 5-7% จากมูลค่า 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 แสนล้านบาทจากการขยายการลงทุนในประเทศ
แต่ขณะเดียวกันจะเห็นว่าเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ ต่างให้ความสนใจและมีแผนขยายตลาดไปยังประเทศในแถบอาเซียนมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า เศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน-5 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.7% ในปี 2567 ซึ่งถือว่าสูงกว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียง 3.1% ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เชนร้านอาหารใหญ่ต่างมุ่งเป้าไปที่ตลาดอาเซียน เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจและขยายฐานลูกค้าในภูมิภาค
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ปีนี้ CRG ฟื้นแผนการขยายธุรกิจไปกลุ่มอาเซียนอย่างประเทศเวียดนามกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวสูง ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการบริโภค ทำให้รายได้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะแซงหน้าประเทศไทยภายใน 10 ปีข้างหน้า
“แม้จะมีร้านอาหารไทยในเวียดนามจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เจ้าของเป็นคนเวียดนาม และมองว่าอาหารไทยและอาหารไทยอีสานยังมีโอกาสเติบโตสูง ส่วนอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมในเวียดนาม เนื่องจากคนเวียดนามชอบกินซูชิ ดังนั้นประเภทอาหารที่มีโอกาสเปิดก็น่าจะเป็นอาหารไทย อาหารอีสาน และอาหารญี่ปุ่น โดยสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในโฮจิมินห์เป็นเมืองหลัก”
ส่วนรูปแบบของการไปทำธุรกิจในเวียดนามนั้น CRG มองว่ามีความเป็นไปได้ทั้ง 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหาพาร์ทเนอร์ ซึ่งมีผู้ประกอบการเวียดนามหลายรายสนใจ หรือไปลงทุนเอง หรือทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งในกลุ่มของเซ็นทรัลอย่าง CRC (เซ็นทรัล รีเทล) ก็มีศูนย์การค้าในเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่ง CRG เองก็อาจจะขยายธุรกิจร้านอาหารไปในศูนย์การค้าของ CRC แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ปิดโอกาสเพราะร้านอาหารแบบสแตนด์อะโลนในเวียดนามก็มีอยู่มากเช่นกัน
ด้านนายอนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ซิซซ์เล่อร์มีแผนขยายการลงทุนในตลาดอาเซียน มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัยได้แก่ 1. ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง มีทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ต่างแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด 2. วัตถุดิบอาหารในประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของร้านอาหาร และ 3. ค่าแรงในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ
โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมาซิซซ์เล่อร์จับมือบริษัท โกลด์ซัน กรุ๊ป จำกัด ในการเปิดสาขาแรกที่ประเทศเวียดนาม ณ เมืองโฮจิมินห์ สาขาเวียดนามจะเป็นการขยายแฟรนไชส์ มีรูปแบบร้านที่แตกต่างจากสาขาในประเทศไทย จะไม่มีสลัดบาร์ แต่เน้นไปที่เมนูสเต็กหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ชื่นชอบการทานเนื้อสัตว์ และบริษัทยังมีแผนจะขยายไปกลุ่มอาเซียน จากปัจจุบันที่มีร้านแฟรนไชส์ในญี่ปุ่นแล้ว 1 แห่ง
ปีนี้ซิซซ์เล่อร์มีแผนเปิดตัว 3 สาขาใหม่ เริ่มต้นด้วยสาขาเซ็นทรัล นครปฐม ซึ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับสาขาที่สองเตรียมเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเขตเมืองหลวงที่มีศักยภาพสูง ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ถึง 60% และสาขาสุดท้ายที่ต่างจังหวัด ทำให้สิ้นปีจะมีสาขาทั้งหมด 67 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 64 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ซิซซ์เล่อร์ มีการปรับโฉมยูนิฟอร์มพนักงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การรีแบรนด์ มุ่งยกระดับภาพลักษณ์ของซิซซ์เล่อร์ให้ดูทันสมัย สื่อถึงความเป็นมืออาชีพ ยูนิฟอร์มใหม่นี้ จะทยอยใช้กับพนักงานหน้าร้านทั้ง 2,400 คน ครบทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และในปีนี้ซิซซ์เล่อร์นี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เฉลี่ยปีละ 10%
“ในปีนี้มุ่งมอบประสบการณ์ “Extraordinary Experience” ผ่านกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมนูใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านราคาที่คุ้มค่า เพื่อขยายฐานลูกค้า ดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้เข้ามาใช้บริการในร้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาเมนูสลัดบาร์ในคอนเซปต์ใหม่ตามฤดูกาล เพื่อเจาะกลุ่มรักสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบสมาชิกใหม่ และกระตุ้นให้สมาชิกปัจจุบันมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์มีฐานสมาชิกประมาณ 5.5 แสนราย คิดเป็น 25% ของยอดขายรวม”
อีกเชนร้านอาหารที่ประกาศขยายการลงทุนในอาเซียนคือ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” โดยนายศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอาเซียนมีศักยภาพการเติบโตที่สูง มีประชากรกว่า 680 ล้านคน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าดึงดูดสำหรับเชนร้านอาหาร
อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เปิดโอกาสปรับกลยุทธ์และรูปแบบการบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะเช่าพื้นที่และค่าแรงงานยิ่งช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถขยายกิจการในอาเซียนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ในปีนี้บริษัทจึงมีแผนเปิดสาขาใหม่ในประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซียเพิ่มอย่างน้อย 5 สาขา หลังจากที่ไปทดลองตลาดในปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี ขณะที่ในประเทศจะขยายสาขาที่เป็นแฟรนไชส์เพิ่มอีก 10-15 สาขา ในส่วนของการลงทุนขยายสาขาเองคาดว่าจะเปิดเพิ่มอีก 20-25 สาขาในปีนี้
ด้วยงบลงทุนราว 345 ล้านบาท หลักๆ เพื่อรองรับการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับบริษัทย่อย ZKC และ KMF รวมถึงการขยายสาขาใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ร้านอาหารในเครือเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะมีสาขาเพิ่มเป็น 365 สาขา แบ่งเป็นการลงทุนเอง 196 สาขา และแฟรนไชส์ 169 สาขา จากสิ้นปีก่อนที่มีสาขารวมทั้งสิ้น 341 สาขา เป็นสาขาที่ลงทุนเอง 182 สาขา และแฟรนไชส์ 159 สาขา
“เซ็น กรุ๊ป มุ่งเน้นการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโต โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการผลักดันแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น สำหรับตลาดต่างประเทศล่าสุดเซ็น กรุ๊ป เลือกปักหมุดหมายแรกของแบรนด์ “เขียง” ในญี่ปุ่น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของตลาดอาหารไทยในญี่ปุ่น ประกอบกับความนิยมในอาหารไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
จะเห็นได้ว่าตลาดร้านอาหารไทยในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง วัตถุดิบมีราคาแพง และค่าแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น เชนร้านอาหารใหญ่จึงหันมาให้ความสนใจกับตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีเศรษฐกิจเติบโต ประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน และกำลังซื้อสูง การขยายธุรกิจไปอาเซียนของเชนร้านอาหารใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดอาหารไทยในต่างประเทศ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจร้านอาหารไทยที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,984 วันที่ 18 - 20 เมษายน พ.ศ. 2567