บอร์ด ขสมก.เคาะเลิกสัญญาซ่อมรถ NGV กับ ช ทวี ส่งหนังสือแจ้งสัปดาห์นี้

24 เม.ย. 2567 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 13:39 น.

"ผู้อำนวยการ ขสมก.' โต้สหภาพฯ ร้องปลดจากตำแหน่งกรณีรถโดยสาร NGV จำนวน 486 คันจอดเสีย บริหารงานล้มเหลวทำให้ ขสมก.เสียหาย ยืนยันทำตามระเบียบ เผยโยกรถสายอื่นช่วยประชาชนไม่กระทบ เผยบอร์ด ขสมก.เคาะเลิกสัญญาซ่อมรถ NGV กับ ช ทวี ส่งหนังสือแจ้งสัปดาห์นี้

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวถึงประธานสหภาพฯ ขสมก.ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ร้องเรียนให้ปลดหรือย้ายตน และตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีรถโดยสาร NGV จำนวน 486 คันจอดเสียและการบริหารงานล้มเหลวทำให้ ขสมก.เสียหายนั้นว่า การบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมรถ NGV จอดเสีย 489 คัน ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าคู่สัญญาเป็นคนทำผิดสัญญา คือรถเสียแล้วไม่ได้ซ่อมและไม่ได้ส่งมอบรถให้ ขสมก.เพื่อไปออกวิ่งให้บริการ ประชาชน ซึ่งหากเขาไม่ได้ส่งมอบรถที่มีความปลอดภัยมา ก็ไม่สามารถที่จะเอาความเสี่ยงไปให้ประชาชน

นายกิตติกานต์ ชี้แจงว่า ขสมก.รับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2566 จากนั้นก็มีหนังสือ แจ้งไปยังบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หลายรอบเพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตามสัญญา แต่ ทั้งนี้กระบวนการบอกเลิกสัญญาต้องมีขั้นตอนที่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งขั้นตอนหลักๆ คือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะต้องรายงานให้ผู้อำนวยการหรือตนทราบถึงสาเหตุและความเห็นในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งคณะกรรมการได้รายงานมาในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา และการบอกเลิกสัญญามีอยู่ข้อหนึ่งที่เป็นประเด็นระบุว่าหากมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ขสมก. ก่อน 

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.

แต่บอร์ด ขสมก.ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าในวาระของการประชุมบอร์ดในครั้งแรก ในวันที่ 5 มีนาคม และที่ประชุมบอร์ดมีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายจึงอยากให้เข้าสู่คณะกรรมการกฎหมาย เพื่อไปพิจารณาก่อนซึ่งคณะกรรมการกฎหมาย ได้มีความเห็นกลับมาว่าให้ขสมก. ดำเนินการตามข้อ 22 ของสัญญาควบคู่กันกับการบอกเลิกสัญญา  ซึ่งข้อ 22 ของสัญญาคือกรณีที่มีข้อพิพาทกัน ให้เชิญคู่สัญญาหรือกลุ่ม ช ทวี มาพูดคุยกันก่อนว่ามีความเข้าใจตรงกันหรือคลาดเคลื่อนกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง โดยทาง ขสมก.ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้ว และมีหนังสือแจ้งไปตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พร้อมกับเชิญ ตัวแทน ช ทวี เข้ามาประชุมวันที่ 17 เมษายน แต่กลุ่ม ช ทวี ไม่ได้เข้ามาประชุมและได้ทำหนังสือเข้ามาชี้แจงแทนว่ามีความประสงค์ ตามเจตนาตามเดิมที่เคยยื่นบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้คือสัญญาของรัฐที่มุ่งเน้นให้บริการสาธารณะมีความต่อเนื่อง 

ดังนั้นการที่เอกชนบอกเลิกสัญญาทางรัฐก่อนก็อาจจะทำไม่ได้ เมื่อเขาไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการซ่อมให้ ขสมก.ต่อ หรือไม่มีความประสงค์ที่จะทำอะไรตามสัญญา ก็ถือว่าเราบริหารสัญญาโดยสุจริตแล้ว และยังให้โอกาสกลุ่ม ช ทวี ในการที่จะมาพูดคุยกัน แต่ไม่มา ขสมก.จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่การวินิจฉัยของบอร์ด เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมามีความ เห็นว่าให้เดินตามอนุกฎหมายแนะนำ คือบอกเลิกสัญญาตามข้อ 21.2 วินิจฉัยว่าให้เดินตามขั้นตอนที่อนุกกฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง ขสมก.ก็ได้ดำเนินการครบขั้นตอนหมดแล้ว และตอนนี้อยู่ระหว่างตนลงนามหนังสือบอกเลิกสัญญา และแจ้งไปยังกลุ่มคู่สัญญาให้เขารับทราบภายในสัปดาห์นี้ 

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.

 

จากนั้นหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว ขสมก.จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ tor ขึ้นมา เพื่อ จัดทำตัวข้อกำหนดและโครงการเกี่ยวกับการจ้าง ฟื้นฟูและซ่อมแซม บำรุงรักษาตัวรถกลุ่มนี้ให้นำมาใช้งานให้เร็วที่สุด  

"ในระหว่างที่เราดำเนินการบอกเลิกสัญญาการให้บริการสาธารณะ ขสมก.มุ่งเน้น ให้มี การบริการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ารถจะจอดเสีย กว่า 400 คัน ขสมก. ผู้บริหารทุกคน กลุ่มคนใช้รถเมล์ ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำแผนการเดินรถในแต่ละช่วงเวลาใหม่ มีการโยกย้ายสายรถ จากสายที่มีผลกระทบน้อยมาอยู่ในสายที่ได้รับผลกระทบจากรถ ที่จอดเสีย  

และจากการดำเนินการทั้งหมดเราก็มีการประเมินผลทุกๆสัปดาห์ จากสถิติผู้โดยสารกับเรื่องร้องเรียนก่อนรถจอดเสีย มีผู้โดยสาร 650,000 คนต่อวัน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายสายรถ เริ่มทำวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ประเมินผลเมื่อวาน มีผู้โดยสาร 630,000 คน ซึ่งไม่ได้ลดหย่อนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่แน่นอนว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ทางขสมกจะประเมินผลเป็นระยะ”  

นอกจากนี้สหภาพ ได้เคยสอบถามมาแล้วหลายรอบ และสอบถามทางประธานบอร์ดด้วย ซึ่งได้ชี้แจงให้สหภาพเข้าใจแล้วในแต่ละประเด็นครบถ้วน เลยยังงงว่าทำไมถึงยังต้องไปยื่นหนังสือร้องไปยังผู้บริหารอีก

ส่วนประเด็นที่ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยข้อบังคับขององค์การกับพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ขสมก. ตำแหน่งกลุ่มนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดบริหารก่อน ทั้งนี้ ขสมก.ได้แต่งตั้งบุคคลที่มีความพร้อมและความสามารถรักษาการเพื่อทำงานควบคู่กันไปด้วย และเมื่อมีบอร์ดบริหารแล้ว และบอร์ดบริหารได้ประเมินการทำงานของตนแล้ว ถัดจากนี้ไปจะต้องเร่งรัดในการดำเนินการให้เกิดความรวดเร็ว และเหมาะสมแต่ละตำแหน่งที่แต่งตั้ง