เปิดเอกสารลับ แบงก์ชาติ ขวาง “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท เต็มสูบ

23 เม.ย. 2567 | 20:01 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 16:24 น.
63.9 k

เปิดเอกสารลับ แบงก์ชาติ เสนอครม. ขวางยับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล เตือนกระทบภาระการคลัง เสี่ยงมีงบประมาณไม่พอรองรับภาวะฉุกเฉิน เสี่ยงผิดพรบ.เงินตรา

KEY

POINTS

  • เปิดเอกสารลับ “แบงก์ชาติ” เสนอครม. ขวางโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล เตือนกระทบภาระการคลังระยะยาว
  • ธปท.หวั่นโครงการใช้เงินมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ มีงบประมาณตุนไว้ไม่เพียงพอรองรับภาวะฉุกเฉิน 
  • เงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน มีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ ถ้าไม่มีเสี่ยงขัดพ.ร.บ.เงินตรา
  • แนะควรแจกให้กลุ่มเฉพาะ ทำโครงการที่เห็นผลคุ้มค่า เช่น เรียนฟรี สร้างรถไฟ แนะใช้พร้อมเพย์ ลดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนพัฒนาระบบ

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการ โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมทั้งรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่าง ๆ โดยคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน เสนอมานั้น 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในรายละเอียดของข้อเสนอต่อการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็น 10,000 บาทครั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาในครม. โดยมีเนื้อหายาวกว่า 5 หน้า ระบุว่า

ด้วยโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ใช้งบประมาณจำนวนมาก และก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้ครม. ได้รับข้อมูลและความเห็นที่ครบถ้วนประกอบการพิจารณานโยบายสำคัญนี้ 

ธปท. จึงขอเสนอความเห็น และข้อสังเกตสำคัญที่ได้เคยแจ้งต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมถึง ข้อห่วงใยอื่น ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดหลังผ่านครม.

1. ความจำเป็นในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

1.1 ควรทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง 

โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่ม รายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า และควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย 

ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี

1.2 โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 

โดยโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

1.3 การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

1.4 รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ 

  • โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง 
  • โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี 
  • โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย 
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังผ่านการเห็นชอบในหลักการจากครม.

 

2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมาย ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 

การใช้เงินงบประมาณจากแหล่ง ต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยง ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

2.1 สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ 

โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

2.2 การให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง และรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 แล้ว

ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท 
อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยง ต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน

จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้ง รับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อนด้วย

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังผ่านการเห็นชอบในหลักการจากครม.

 

3. ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ด้วยระบบสำหรับโครงการ DW มีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของ ประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

3.1 ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

3.2 ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมี ลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน 

เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและ ข้อมูลความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย

3.3 ผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี

3.4 ผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของข้อมูลธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังครม.เห็นชอบในหลักการ

 

4. การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น 

  • แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด 
  • การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม 
  • การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่าย 
  • ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไม่ให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ 
  • การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount)

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและ รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อนใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่ 

ดังนั้น เพื่อให้การให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีความรอบคอบครบถ้วน จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต่อไป