“สรรเพชญ”แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหาทุเรียน อย่าให้ความสำคัญแต่กลุ่มทุนกลางน้ำ

21 เม.ย. 2567 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2567 | 15:38 น.

“สรรเพชญ”แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหาทุเรียน อย่ามัวแต่ให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนกลางน้ำ ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อทุเรียนไทยที่ยั่งยืน

วันนี้ (21 เม.ย. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจสอบและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะเป็นมาตรฐานบังคับในการรองรับการแข่งขันและปกป้องการส่งออก “ทุเรียน” ให้มีคุณภาพ 

โดยเนื้อหาสาระดังกล่าว เป็นการกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียน เช่น ความแก่ การคัดแยกทุเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ การห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย อีกทั้งมีการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ที่จะต้องผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด 

รวมไปถึงการมีผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ หรือ ควบคุมการเก็บเกี่ยว จะต้องมีความรู้ความชำนาญและมีหลักฐานที่แสดงว่า ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี 

นายสรรเพชญ กล่าวว่า การออกกฎกระทรวงในลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนก่อนถึงมือผู้บริโภค

นายสรรเพชญ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพทุเรียนมากกว่านี้ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ก็มักจะสั่งทุเรียนกลับไปที่ประเทศของตนเอง ครั้งละหลายหมื่นถึงหลายแสนบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของทุเรียนไทย 

                             สรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาล ที่จะรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ให้ได้ ตนจึงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุเรียนเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลมุ่งแต่จะทำเรื่องกลางน้ำ และ ละเลยต้นน้ำ คือ การให้ความสำคัญกับการเตรียมดิน เตรียมปุ๋ย เตรียมพื้นที่ของเกษตรกร ที่อาจจะถูกละเลยไป 

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ คือ พ่อค้า การขนส่ง ปลายน้ำ คือ ผู้บริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อให้ทุเรียนไทยมีความยั่งยืนทั้งระบบครบวงจร สามารถรักษามาตรฐานของประเทศไว้ได้

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ตนได้ยื่นญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน

ขณะนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว คาดว่า เมื่อเปิดสมัยการประชุมจะได้รับการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียน และให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีหลักประกันผ่านกองทุนทุเรียนไทยต่อไป