บอร์ดการยางฯ เร่งสางปัญหา เอ็มทีฯ เบี้ยวรับมอบ 1.8 หมื่นตัน

16 เม.ย. 2567 | 16:27 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2567 | 16:36 น.

ศึกสต๊อกยางอลเวง “เพิก”ประธานบอร์ด กยท. เร่งสางปัญหาเอ็มทีเซ็นเตอร์เทรด เบี้ยวรับมอบยาง 1.8 หมื่นตัน ลุ้นศาลตัดสินชี้ขาด ยางในคลังเป็นสิทธิ์ของใคร ดีเดย์คิกออฟ EUDR 27 เม.ย. ด้านสมาคมยางพาราไทย ส่งหนังสือถึงรัฐบาล ขอช่วยเจรจาอียู ขอไทยปรับตัว 1-2 ปี

รัฐบาลในอดีตมีโครงการแทรกแซงซื้อยางพารามาเก็บสต๊อกกว่า  3.6 แสนตัน แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาศักยภาพยางฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป้าหมายซื้อยางชนิดต่างๆ โดยกำหนดราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ชี้นำตลาดกิโลกรัม(กก.)ละ 120 บาท ซื้อยางรวม 212,916 ตัน มูลค่า 21,069.9 ล้านบาท เฉลี่ยกก. 98.94 บาท และได้ชำระหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จำนวน 22,000 ล้านบาท (30 ก.ย. 65 ) เรียบร้อยแล้ว

2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ดำเนินตามมติ ครม.มีเป้าหมายซื้อยางชนิดต่างๆ โดยกำหนดราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ซื้อชี้นำตลาด กก.ละ 60 บาท ซื้อยางรวม 148,799 ตัน มูลค่า 8,889.3 ล้านบาท เฉลี่ย กก.ละ 59.74 บาท ได้ชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. แล้วจำนวน 8,774.69 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 9,600 ล้านบาท ยังคงเหลือหนี้ค้างชำระ 825.31 ล้านบาท โดยยางพาราที่เหลือจำนวน 18,482 ตัน อยู่ในชั้นศาลกำลังพิจารณาคดี นั้น

บอร์ดการยางฯ เร่งสางปัญหา เอ็มทีฯ เบี้ยวรับมอบ 1.8 หมื่นตัน

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการสอบถามผู้บริหาร กยท. เป็นการประมูลยางในสมัยนายธีธัช สุขสะอาด เป็นผู้ว่า กยท. ได้มีการเปิดประมูลยางในสต๊อก ผู้ประมูลได้คือ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด แต่ไม่มารับมอบยางตามสัญญา เรื่องอยู่ในศาล กยท. ฟ้องบริษัท แล้วต้องยึดยางคืน และต้องนำยางมาประมูลขาย แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าของคลังยังยึดหน่วงยางไว้ไม่ให้ กยท. ขาย ล่าสุดเรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลกำลังพิจารณาว่ายางที่อยู่ในคลังเก็บเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร

 

“ใจผมอยากจะเคลียร์สต๊อกให้จบกันไป ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานทั้ง 3 ฝ่าย บริษัทเอ็มทีฯ โกดัง และผู้ให้เช่าโกดัง ซึ่งทางร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับทราบเรื่องแล้ว และให้หาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ที่สำคัญไม่อยากให้มีผลกระทบต่อตลาด”

 

นายเพิก เผยถึงอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ และบอร์ด กยท.และได้แจ้งทางรัฐมนตรีเกษตรฯ แล้ว มีมติเห็นชอบกำหนดวันคิกออฟขับเคลื่อนมาตรการ EU Deforestation Regulation: EUDR ของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ค้าขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 27 เมษายนนี้  ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมืองหลวงยางพารา ซึ่งจะเป็นการประกาศให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทย เริ่มที่จะมี EUDR แล้ว ซึ่งได้มีแนวคิดที่จะทำโฉนดต้นไม้ยาง ที่สามารถบอกพิกัดเพื่อจะมาตอบโจทย์ EUDR รวมถึงที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ไม่สามารถเข้าเงื่อนไข EUDR ได้รับประโยชน์ทั้งประเทศ

 

บอร์ดการยางฯ เร่งสางปัญหา เอ็มทีฯ เบี้ยวรับมอบ 1.8 หมื่นตัน

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อุปนายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราปี 2567 ว่า คาดมีแนวโน้มชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง และไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ถี่และรุนแรงขึ้นและผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความท้าทายในการปรับตัวกับกฎระเบียบ Climate change ที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก

ได้แก่ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(CBAM) และกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products) ของสหภาพยุโรปซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2568 ซึ่งครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โคและเนื้อไม้

ล่าสุดทางสมาคมยางพาราไทย ได้มีหนังสือถึง กยท. ผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลได้เจรจากับสหภาพยุโรป(อียู) ขยายระยะเวลาให้ไทยได้ปรับตัวอย่างน้อย 1-2 ปี

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,983 วันที่ 14-17 เมษายน พ.ศ. 2567