โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

21 เม.ย. 2566 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 16:05 น.

กยท. เตรียมขายทอดตลาดยางล็อตสุดท้าย 1.8 หมื่นตัน จากทั้งหมด 3.6 แสนตัน ภายในปีนี้ เร่งปิดหนี้ ธ.ก.ส.กว่า 825 ล้านบาท ลุ้นแผนปฏิบัติการยางพารา 15 ปี หลัง ครม.ไฟเขียว ตั้งเป้าสิ้นสุดโครงการ ดันมูลค่าส่งออกโต 2 เท่าตัว 8 แสนล้าน ฝันยกระดับสวนยางทำรายได้ 19,800 บาทต่อไร่

ราคายางพาราที่ตกตํ่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อยกระดับราคาใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ในปี 2555

2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์(รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปี 2557 โดยซื้อยางเข้าเก็บในสต๊อกรวม 3.6 แสนตัน มีหลายบริษัทเคยสนใจมาซื้อ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีอันต้องยกเลิกสัญญา อีกทั้งยังเป็นภาระของรัฐบาลต้องแบกสต๊อกและค่าเช่าโกดัง แบบเรียกค่าเสียหายจากลูกค้าไม่ได้ เนื่องจากคู่สัญญา 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไชน่าไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ป จำกัด (บจก.) และเครือชิโนเคม อยู่ต่างประเทศ

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

ต่อมาการยางแห่งประเทศ ไทย (กยท.) ได้มีการขายยางในสต๊อกให้กับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)จำนวน 1.04 แสนตัน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และกำหนดให้ผู้ซื้อรับมอบยางให้แล้วเสร็จภายใน 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางมีน้อย ทำให้มีผลกระทบต่อราคายางค่อนข้างน้อย และยังมีเงื่อนไขในการขายได้กำหนดให้ผู้ซื้อต้องซื้อยางจากภาคเกษตรกรและหรือสถาบันเกษตรกรเพิ่มอีก 110,000 ตัน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อราคายาง ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในส่วนของสต๊อกยางที่เหลือ

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า การซื้อยางมาเก็บสต๊อกกว่า 3.6 แสนตัน โดยแบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาศักยภาพยางฯ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป้าหมายซื้อยางชนิดต่างๆ โดยกำหนดราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ชี้นำตลาดกิโลกรัมละ 120 บาท ซื้อยางรวม 212,916 ตัน มูลค่า 21,069.9 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลกรัมละ 98.94 บาท และโครงการบัฟเฟอร์ฟันด์ ดำเนินตามมติ ครม.มีเป้าหมายซื้อยางชนิดต่างๆ โดยกำหนดราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ซื้อชี้นำตลาด กิโลกรัมละ 60 บาท ซื้อยางรวม 148,799 ตัน มูลค่า 8,889.3 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.74 บาท

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

โดยทั้ง 2 โครงการมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กยท. (องค์การสวนยางเดิม) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาดำเนินการตามโครงการฯ และให้สำนักงบประมาณตั้งงบประมาณชดเชยการขาดทุนกรณีดำเนินโครงการประสบปัญหาจากการขาดทุน

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 โครงการพัฒนาศักยภาพยางฯ ได้ชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส.จำนวน 22,000 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้ชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. แล้วจำนวน 8,774.69 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 9,600 ล้านบาท ยังคงเหลือหนี้ค้างชำระ 825.31 ล้านบาท โดยยางพาราที่เหลือจำนวน 18,482 ตัน กยท.มีแผนขายทอดตลาดภายในปี 2566 และจะดำเนินการชำระหนี้ ธ.ก.ส. เมื่อดำเนินการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการโละยางล็อตสุดท้าย และปิดตำนาน 3.6 แสนตัน ในรอบ 11 ปี

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนออนุมัติแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566-2580) ตามที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ซึ่งมีการยางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเสนอ โดยให้ใช้ชื่อ “แผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-2580” นั้น

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

โดยข้อเท็จจริงผลการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ยางพาราในช่วงปี 2561-2565 ตัวชี้วัด เมื่อสิ้นสุดโครงการ ปี 2565 มี 1 ตัวชี้วัดที่บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารา 450,000 ล้านบาทต่อปี และไม่บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ 1.การลดพื้นที่ปลูกยาง เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณของ กยท.

2. สัดส่วนการใช้ยางในประเทศ ตั้งไว้ 18% แต่ทำได้ 11.75% และรายได้จากการทำสวนยางตั้งไว้ 13,750 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ทำได้ 13,680 บาทต่อไร่ต่อปี สาเหตุมาจากโรคใบร่วงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ตํ่า ดังนั้นเพื่อทบทวนแผนฯ กยท. จึงได้ดำเนินการร่วมกับที่ปรึกษา (บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด) เพื่อทบทวนแผนให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน

โละสต็อกยางล็อตสุดท้าย ปิดตำนาน 3.6 แสนตัน

โดยเป้าแผนปฏิบัติการด้านยางพารา พ.ศ. 2566-2580 มีวิสัยทัศน์ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผู้นำการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพสากล โดยผลสัมฤทธิ์สิ้นสุดปี 2580 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไม่ตํ่ากว่า 0.8 ล้านล้านบาท (8 แสนล้านบาท) และยกระดับรายได้ชาวสวนยาง 19,800 บาทต่อไร่ต่อปี

 

หน้า 9  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,880 วันที่ 20-21 เมษายน พ.ศ. 2566