ราคาทองพุ่งแรงปิดบวก 8.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

16 เม.ย. 2567 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2567 | 08:49 น.
629

ราคาทองพุ่งแรงปิดบวก 8.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ติดบวกต่อเนื่อง 3 วัน รับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง อิหร่าน กับ อิสราเอล ส่วนราคาทองคำได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางเมื่อ อิหร่าน ยิงขีปนาวุธและโดรน 330 ลูกใส่ อิสราเอลในช่วงดึกของคืนวันเสาร์ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาทองเกิดความผันผวน

ล่าสุด สัญญาทองคำ ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (15 เม.ย.) ซึ่งเป็นการปิดบวกติดต่อกันวันที่ 3 เนื่องจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

 

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 2,383.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 38.7 เซนต์ หรือ 1.37% ปิดที่ 28.717 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 20.70 ดอลลาร์ หรือ 2.07% ปิดที่ 981.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 15.60 ดอลลาร์ หรือ 1.47% ปิดที่ 1,043.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกและโดรนหลายร้อยตัวโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.) เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศซีเรีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายซึ่งรวมถึงนายโมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ผู้บัญชาการระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่าน

ทั้งนี้ แม้ว่ากองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) สามารถยิงสกัดขีปนาวุธและโดรนเหล่านั้นได้เกือบทั้งหมด แต่การที่อิหร่านโจมตีดินแดนอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีโดยไม่ผ่านการทำสงครามตัวแทน (proxy war) นั้น ได้ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะใช้มาตรการตอบโต้อิหร่าน

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำถูกกดดันในระหว่างวันเนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. 2566 หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3%

นักลงทุนกังวลว่ายอดค้าปลีกที่สูงเกินคาดซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้บริโภคนั้น อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้.