ชนินทธ์ โทณวณิก ปั้น "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" 4.6 หมื่นล้าน แฟล็กชิพสู้ต่างชาติ

12 เม.ย. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 11:29 น.

ในที่สุดบิ๊กโปรเจ็ค “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่าการลงทุน 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มดุสิตธานี 70% และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN 30% พร้อมจะเปิดให้บริการในส่วนของ “โรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพ” เป็นโครงการแรกในเดือนกันยายน ปี 2567 นี้

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จัดว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุดเท่าที่กลุ่มดุสิตธานีเคยลงทุนมา ซึ่งเดิมเป็นโรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพ พื้นที่ 18 ไร่ และได้ขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 23 ไร่ หลังต่อสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 30+30 ปี เพื่อพัฒนามิกซ์ยูส บนที่ดินหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนสีลมแห่งนี้  โดยทุบโรงแรมทิ้งสร้างใหม่ ใช้เวลาก่อสร้างมานานกว่า 5 ปี กว่าจะเตรียมเปิดบริการในเดือนก.ย.นี้ หลังจากได้ปิดตัวโรงแรมเดิมไปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2562

โครงการนี้นอกจากจะมีโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ รูปโฉมใหม่แล้ว  ก็ยังมี “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่จะเป็นอาคารที่พักระดับลักซ์ซูรี ภายใต้แบรนด์ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซต์” รวมถึงอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ และ Rooftop Park พื้นที่สีเขียวลอยฟ้าใจกลางกรุงขนาด 1.12 หมื่นตารางเมตร ที่จะทยอยเปิดให้บริการในปี 2568 และ 2569

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

นายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เผยว่า ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการใหญ่ที่สุดสำหรับกลุ่มดุสิตธานี ตั้งแต่เคยทำมา จัดว่าใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่คุณแม่ (ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย) ได้สร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในไทย เราโชคดีที่ได้ CPN มาร่วมลงทุน เพราะเขาจะเชี่ยวชาญในส่วนของห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน และเราก็ไม่ได้อยากทำ เพราะเราถนัดด้านโรงแรม และผมยังได้ดึง “ศุภจี สุธรรมพันธุ์”  มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี เพื่อให้เข้ามาช่วยทำโครงการใหญ่นี้ให้เราประสบความสำเร็จ

ชนินทธ์ โทณวณิก

เบ็ดเสร็จแล้ว ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ใช้งบลงทุนรวมกว่า 4 หมื่นกว่าล้านบาท จากตอนแรกคิดว่าจะลงทุนราว 3 หมื่นกว่าล้านบาท เพราะเราต้องการทำโครงการนี้ให้มีคุณภาพ ทำให้ดีที่สุด ไม่ได้มองเพียงรายได้ระยะสั้น ซึ่งในภาพรวมโครงการถือว่าออกมาดีกว่าที่คิด โดยที่ผ่านมาเราได้เริ่มเปิดการขายในส่วนของเรสซิเด้นซ์ ภายใต้แบรนด์ ดุสิต เรสซิเดนเซส คนก็มาซื้อ เพราะไว้ใจในความเป็นดุสิต

สำหรับการเปิดให้บริการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในโครงการแรกจะเปิดให้บริการในส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ ในเดือนก.ย.ปีนี้ แม้จะล่าช้าออกไปกว่า 18 เดือนจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้งานก่อสร้างชะงักไปบางช่วง ค่าก่อสร้างก็เพิ่ม และเราก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบใหม่ เน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น และขยายห้องพักของโรงแรม เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีโรงแรมใหม่เปิดขึ้นหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมพาร์คไฮแอท กรุงเทพ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพ โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ

“ในอดีตโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ทำรายได้ให้เราในอดีตสูงถึง 20% เป็นโรงแรมใหญ่กลางเมือง แต่ก็เหนื่อยมากในช่วงก่อนหน้านี้ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เราคิดมานาน ดูมานาน  ผมไปดูโรงแรมเก่าในต่างประเทศ ในประเทศที่พยายามปรับปรุง ดูโรงแรมเก่าที่ตกแต่งใหม่ และเขาสู้กับโรงแรมใหม่ ได้ยังไง ก็ดูมานาน ซึ่งที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี เดิมก็มีการตกแต่งครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 1980 และในปี 1996 /1997 แต่ตกแต่งอย่างไรก็เป็นโครงสร้างเก่า เราเลยตัดสินใจทุบทิ้งและสร้างใหม่”

นายชนินทธ์ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 80-90%  ระบบทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่การตกแต่งภายใน ที่เรายังต้องเช็คทุกอย่าง เพราะวันนี้เราเห็นแต่แบบ กับห้องตัวอย่าง ยังไม่เห็นของจริง ต้องทำให้ออกมาดี ตามโจทย์ที่เราตั้งไว้ว่าแรกว่าการทุบโรงแรมเดิมซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานทิ้ง และสร้างใหม่ จะต้องทำให้โรงแรมใหม่นี้มีบุคคลิกเดิม รักษาสิ่งที่คุณแม่ทำไว้ เพราะผมกลัวที่สุด คือ ดวงวิญญาณคุณแม่จะมาบ่นว่า โดยเราได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในการนำของเก่าอันทรงคุณค่าที่เรามี มาตกแต่งให้เข้ากับยุคสมัย 

เราต้องการทำให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ เป็นแฟล็กชิพของกลุ่มดุสิตธานี ที่จะเป็นแบรนด์โรงแรมคนไทย ที่จะสู้กับต่างประเทศ มีการดึงราคาให้สูงขึ้น เพราะเราคิดว่าโรงแรมของไทย ควรเป็นแข่งกับคนอื่นได้ ดังนั้นนอกจากการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของดุสิตธานี ที่ดีเหมือนเดิมแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่น สมัยก่อนห้องพัก จะมีพื้นที่อยู่แค่ 18- 30 ตรม. โรงแรมใหม่ จะอยู่ที่ 50- 60 ตรม.ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก สมัยก่อนกระจกที่อยู่ในห้องมองออกมาข้าง จะอยู่ที่ 4 เมตร ตอนนี้จะอยู่ที่  6 เมตร ความสูงของห้องพักจาก 2.8 เมตร เป็น 3.8 เมตร   และเราก็พยายามทำให้เกิดความต่อเนื่อง รักษาประวัติศาสตร์ของโรงแรมที่เรามี

เราก็หวังว่าจะออกมาดี คนจะชอบ คนรุ่นเก่าที่อาจติดของเดิม ก็อาจจะมีบ่นบ้าง แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด อาทิ ยอดแหลมสีทอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เดิม และเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมใหม่บนยอดสูงสุดโดยยอดเสาเก่า ได้ถูกวางครอบด้วยยอดเสาทองคำใหม่ที่ใหญ่และสวยงามกว่าเดิม

ผมมั่นใจว่าจะไม่มีโรงแรมไหนในไทย ที่รื้อแล้วทำแบบเรา หรือรื้อแล้วทำได้แบบเราไม่มีแน่นอน เพราะเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นการต่อเนื่องของโรงแรมเดิม และการบริการที่เป็นบุคคลิกของดุสิตธานี ขณะเดียวกันหากโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แล้วเสร็จ ก็จะเป็นเดสติเนชั่นใหม่ ที่มีส่วนช่วยให้กรุงเทพฯรวมถึงย่านพระราม 4 เป็นศูนย์กลางใหม่ด้านธุรกิจ

วันนี้เราจะเห็นการลงทุนขนาดใหญ่ของคนไทยเกิดขึ้นมากมายในย่านนี้ อย่างรอบสวนลุมพินีด้านเหนือ ก็มีโครงการสยามสินธร ด้านตะวันออก มีโครงการวัน แบงค็อก สีลมก็มี ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ผมไม่ได้มองว่าโครงการเหล่านี้เป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ทุกคนช่วยกันทำ เพราะช่วยทั้งกรุงเทพฯไม่ใช่แค่พระราม 4

นอกจากการลงทุนดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แล้ว ดุสิตธานียังมองถึงการกระจายความเสี่ยง เพราะก่อนเกิดโควิด เราก็เห็นปัญหาว่าดุสิตธานีพึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก ไม่เหมือนไมเนอร์ หรือ เซ็นทารา พอเกิดปัญหาอย่างโควิด เราจึงกระทบมากกว่าคนอื่น เราจึงมองถึงการหาธุรกิจอื่นมาเสริม โดยมีคุณศุภจี เข้ามาช่วยขับเคลื่อน อย่าง “ดุสิต ฟู้ดส์” ซึ่งเป็นธุรกิจอาหาร เราไม่อยากทำธุรกิจอาหารเหมือนไมเนอร์ หรือ เซ็นทารา ที่ทำฟาสฟู้ด

ประกอบกับเราเป็นแบรนด์คนไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก็อยากโปรโมทอะไรที่เป็นไทย ตุ๊กตาในการขยายธุรกิจของดุสิตธานีจึงไม่เหมือนที่อื่น อย่างล่าสุด การเปิด “ปิ่นโต ฮับ” (ดึงสตรีทฟู้ดส์ชื่อดัง มาขายในแพลตฟอร์มออนไลน์) เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อดุสิต และสิ่งสำคัญคือช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีช่องทางในการขายด้วยนั่นเอง