เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ใช้ แอปฯ “เป๋าตัง” ผุด “แอปฯใหม่” ยืนยันตัวตน

10 เม.ย. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 14:53 น.
47.4 k

รัฐบาลเร่งวางระบบหลังบ้าน รองรับแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 50 ล้านคน 5 แสนล้าน ไม่ใช้แอปฯ “เป๋าตัง” ผุด “แอปฯใหม่” ลงทะเบียน-ยืนตัวตน ปิ๊งไอเดีย “คิวอาร์โค้ด” คนไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน เกษตรกรสแกนผ่านแอปฯธ.ก.ส.ได้

วันนี้ (10 เมษายน 2567) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอีเอส ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการวางระบบหลังบ้านเพื่อรองรับการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ขอให้รอความชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นประธานในวันที่ 10 เมษายนนี้ เพื่อให้การสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน 

แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอีเอสเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการวางระบบหลังบ้านเพื่อรองรับการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งยังไม่ตกผลึก อยู่ในขั้นตอนการเจรจาว่าจะใช้บนแพลตฟอร์มใด  

“แอปพลิเคชั่นที่จะเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะไม่ได้ใช้แอปฯ ‘เป๋าตัง’ จะเป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ หรือ แอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ที่มีอยู่แล้วก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก หรือ อาจจะกลับไปใช้แอปเคชั่น ‘เป๋าตัง’ เหมือนเดิมก็ยังมีความเป็นไปได้”แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลอีกรายระบุ

แหล่งข่าวรายเดิมระบุต่อว่า แอปฯเป๋าตังยังมีข้อจำกัดในการระบุตัวตนลงทะเบียนใช้สิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เช่น ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป หรือต้องมีรายได้จากเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท 

แหล่งข่าวระดับสูงในบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทอีกรายเปิดเผยว่า คนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เช่น คนชรา รัฐบาลอาจจะให้เป็น ‘คิวอาร์โค้ด’ สำหรับนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ขณะที่เกษตรกรสามารถจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่มีปัญหาเพราะมีแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส.รองรับอยู่แล้ว