ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

09 เม.ย. 2567 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2567 | 17:30 น.
2.3 k

จับตา การประชุมบอร์ดโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทชุดใหญ่ 10 เมษายนนี้ หลังนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน"ระบุว่า จะได้ข้อสรุปทุกอย่าง ทั้งการจัดหาแหล่งเงินที่จะมาใช้โครงการ และเงื่อนไขต่างๆ

ก่อนหน้ามีการถกเถียงกันไปมาระหว่างรัฐบาลที่พยายามผลักดันโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤต จะต้องเดินหน้าโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะออกมายืนยัน เศรษฐกิจไทยไมไ่ด้วิกฤต เหตุเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวลง รวมถึงความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567 ทำให้ไม่มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาครัฐจต่างก็หดตัวทั้งสิ้น

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินถึง 5  แสนล้านบาท ที่ต้องไปกู้มาเพื่อนำมาแจกเงินให้กับประชาชนแต่อย่างใด 

แม้จะยังไม่ฟังธงตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ตามประมาณการที่วางไว้ แต่ที่ชัดเจนตอนนี้คือ เศรษฐกิจไทยไหลรูดลงทุกวัน  แต่เพียงไตรมาแรกของปี สำนักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศเรียงหน้าปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปีนี้ลง

ล่าสุดธนาคารโลกหรือ เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ จากที่คาดว่าจะเติบโต 3.2% เหลือเพียง 2.8% จากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 โดยยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ 10 เมษายนนี้ จึงเป็นที่จับตาหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาระบุว่า จะได้ข้อสรุปทุกอย่าง หลังจากมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อสรุปในเรื่องของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ 

ซึ่งก็เริ่มมีความชัดเจนเมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 เมษายนได้ปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ใหม่จากกรอบวงเงินเดิม 3.6 ล้านล้านบาทเพิ่มเป็น 3.752 ล้านล้านบาท โดยมองว่า วงเงินที่เพิ่มขึ้น 152,700 ล้านบาทเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ  เป็นการจัดเตรียมแหล่งเงินเอาไว้ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน

ครม.ยังมีีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวน ซึ่งยังเป็นงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องรวม 2,764,700 ล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้ารัฐบาลประกาศคุณสมบัติของคนที่จะได้รับแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ตนั้นจะต้องใช้เงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ที่ชัดเจนขณะนี้คือ รัฐบาลสามารถจะหาช่องทางตุนเงินกู้ได้แล้ว 1.5 แสนล้านบาทแล้วที่เหลืออีก 3.5 แสนล้านบาทจะมาจากช่องทางไหน

ปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิทระบุว่า เงินส่วนหนึ่งจะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 ที่คาดว่า จะมีผลบังคับใช้เดือนเมษายน 2567 ซึ่งเหลือระยะเวลาการใช้จ่ายเพียง 5 เดือน รัฐบาลจึงคาดว่า จะใช้จ่ายไม่หมดและมีงบประมาณเหลืออยู่ก้อนหนึ่งที่สามารถโยกมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“หากวันนี้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการคลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตในอนาคต ไม่ให้เศรษฐกิจไทยซึมลึก ก็จำเป็นต้องดำเนินการ เพราะหากเศรษฐกิจซบเซา จะสะท้อนกลับมาที่จีดีพีไม่เติบโต ขณะที่รายได้จากภาษีก็จะไม่ได้ตามเป้า และปัญหามันก็จะวนอยู่เช่นนี้ ”นายลวรณกล่าว

ดังนั้นแทนที่เราจะเก็บเงินไว้ เราก็เอาเงินที่มีอยู่มาใช้ป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลาย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเราฟื้นตัว ซึ่งหากเราไม่ทำอะไร เศรษฐกิจเราอาจจะขยายตัวแค่ 1.5% ซึ่งเราจะอยู่อย่างนี้หรือไม่และปัจจุบันพื้นที่ทางการคลังเรามีอยู่ 7%ของจีดีพี หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ พื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่เท่านี้ ก็อาจจะไม่เพียงพอรองรับได้ 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ที่สุดแล้วเงินงบประมาณปี 2567 จะเหลือมากพอที่จะโยกมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้จนครบ 5 แสนล้านบาทหรือไม่ หรือต้องไปหาช่องทางให้ธนาคารรัฐสำรองจ่ายไปบางส่วนก่อน ผ่าน ม.28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐหรือไม่ หลังจากที่เคยพุ่งเป้าไปที่ธนาคาร ออมสิน แต่ต้องพับแผน เมื่อเห็นว่าว่า กฎหมายจัดตั้งออมสินไม่ได้เปิดทางไว้ให้ 

ล่าสุดพุ่งเป้าไปที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) แม้จะยังหลังแผ่นจากการแบกรับภาระหนี้จากโครงการจำนำข้าวและการดูแลเกษตรกรผ่านมาตรการต่างๆของรัฐ ที่ก็ยังไม่รับชำระคืน แต่ก็มีการพยายามหาช่องทางเพิ่ม ซึ่งที่สุดก็น่าจะซ้ำรอยเดียวกับธนาคาร ออมสินคือ กฎหมายการจัดตั้งธ.ก.ส.ก็ไม่ได้เปิดทางไว้เช่นกัน 

หรือถ้าหากต้องทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนคือ เดินหน้าแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่สุดรัฐบาลอาจต้องก้มหน้าตัดทอนจำนวนคนลง เพื่อให้อยู่ในวงเงินที่จัดหามาได้ เพราะถ้าถึงวันต้องแจกเงินจริงและยังไม่ลดจำนวนคนและวงเงินลง แต่ไม่สามารถหาแหล่งเงินได้เพียง การออกแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังมีอีกด่านคือ พ.ร.บ.เงินตรา ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของไทยเหมือนผู้ป่วยที่ถูกฉีดสเตียรอยด์ (Steroid) กระตุ้นมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งโดยปกติแล้ว การกระตุ้นระยะสั้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การกระตุ้นที่ไม่ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะทำให้ส่งผลระยะยาวที่อาจเกิดภาวะถดถอยลงเรื่อย ๆ ได้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

“เห็นด้วยกับรัฐบาลว่า ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท เพราะน่าจะกระตุ้นได้แค่ 0.7% จากเงินที่ลงไป ซึ่งในภาพระยะยาวของการคลังที่ผ่านมาถือว่า ไทยติดอยู่ในบ่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเป็นประชานิยมอ่อนๆ ก็ว่าได้ ซึ่งปีนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้ราว ๆ 2.4% แบบไม่รวมดิจิทัล วอลเล็ต”ดร.นณริฏกล่าวทิ้งท้าย

ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงการควรหรือไม่ควรที่จะแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นเม็ดเงินที่สูงและผลต่อเศรษฐกิจก็เป็นเพียงประมาณการที่เราเอาความหวังทั้งหมดไปไว้ที่ดิจิทัล วอลเล็ต

แต่ในแง่การทำนโยบายเศรษฐกิจนั้นต้องทำคู่ขนานกันทั้ง การประคองเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงต่อ จากกลุ่มเปราะบางที่ยังมีรายได้ไม่พอรายจ่าย มีภาระหนี้สูง มาตรการเยียวยาอาจต้องมีเพื่อสร้างฐานของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องมีนโยบายที่เสริมการเติบโตไปข้างหน้า ผ่านการวางโครงสร้างและปรับพื้นฐานเศรษฐกิจให้สามารถเข้าร่วมสายพานการผลิตโลกใหม่ได้ ประเทศจึงจะอยู่รอดระยะยาว

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,981 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2567