แกะไทม์ไลน์ ไล่จับแก๊งลอบขน "กากแคดเมียมอันตราย"

09 เม.ย. 2567 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2567 | 17:57 น.
589

"อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานกมธ.อุตสาหกรรม” เปิดไทม์ไลน์ข้อมูลการร้องเรียน ขบวนการขนย้ายนำกากอุตสาหกรรม “แคดเมียม” ออกจากจังหวัดตากสู่จังหวัดสมุทรสาคร ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้เซ็นอนุมัติ

“กากแคดเมียมเมื่อผ่านกระบวนการหลอมเพื่อสกัดสิ่งที่อยู่ภายในมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึงตันละประมาณ 200,000 บาท จึงเป็นผลประโยชน์ที่ใครก็อยากได้”

เป็นข้อมูลจาก “นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานกรรมมาธิการอุตสาหกรรม” ที่ชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินมหาศาลจาก “กากแคดเมียม-สังกะสี” ที่เป็นข่าวดังครึกโครมอยู่ขณะนี้ หลังมีการขุดและลักลอบขนย้ายจากจังหวัดตาก กว่า 15,000 ตัน กระจายไปซุกไว้ตามจังหวัดต่างๆ

ซึ่งข้อมูลการตรวจพบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุดพบในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ สมุทรสาครและชลบุรี 

นายอัครเดช เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “กมธ.อุตสาหกรรม” ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2567 เพราะได้รับการร้องเรียนมีการนำกากอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะไม่ถูกกฎหมายจำนวนมากเคลื่อนย้ายออกจากจังหวัดตาก  ณ ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าจะไปยังที่ใด

ซึ่งตามรายงานกากแร่นี้ระบุไว้ว่า “มีอันตรายห้ามเคลื่อนย้าย”  

 

กุมภาพันธ์ 2567

ประธานกรรมมาธิการอุตสาหกรรม เล่าต่อไปว่า จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวนเชิงลึก กระทั่งมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อุตสาหกรรมจังหวัดตาก มาให้ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ทั้ง 2 หน่วยงาน มอบให้ผู้แทนคือรองผู้ว่าฯ และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดมาชี้แจง ระบุว่า พื้นที่เหมืองเก่าใน อ.แม่สอด ส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ไม่มีการทำเหมือง

มีนาคม 2567

จากนั้นต้นเดือนมีนาคม 2567 กมธ.อุตสาหกรรม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอีกครั้ง เพราะได้รับข้อมูลว่า มีการย้ายกากแร่จาก อ.แม่สอด มาจาก จ.ตาก ทุกหน่วยงานจึงช่วยตรวจสอบ

โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่แจ้งว่า การตรวจสอบสามารถทำได้เพราะมีการลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบขนย้าย

ต่อมาวันที่27 มีนาคม 2567 กรรมาธิการฯ ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมอีกครั้ง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ชี้แจงว่า เป็นผู้เซ็นอนุมัติให้มีการขนย้ายกากแร่ดังกล่าวออกไปที่ จ.สมุทรสาคร

แต่ทางรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า ปลายทางไม่น่าจะรับกากแร่ที่ขนไปได้  แคดเมียมเป็นโลหะหนัก โรงงานปลายทางไม่สามารถหลอมโลหะอันตรายได้ เพราะเป็นโรงหลอมอลูมิเนียมที่ไม่อันตราย 

“ในวันนั้นที่ปรึกษากรรมาธิการอุตสาหกรรม สอบถามกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เรื่องการขนย้ายกากดังกล่าว เพราะในข้อมูลทาง EIA ระบุชัดว่า จะต้องใช้วิธีการฝังกลบตามกระบวนการเท่านั้น แต่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดตาก แจ้งว่า ขอกลับไปตรวจสอบก่อน” 

 

เมษายน 2567 

ประธานกมธ. เล่าอีกว่า และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จึงเชิญ 8 หน่วยงานมาประชุม และมีความเห็นว่า กากดังกล่าวเป็นอันตราย

โดยในที่ประชุม ผู้แทนกรมโรงงานฯ นำผลการตรวจสอบตัวอย่างกากแร่ที่พบในโรงงานสมุทรสาคร มาชี้แจง ว่า ผลการวิเคราะห์พบกากแคดเมียมมีความเข้มข้นสูงถึง 40% ถือว่าเป็นอันตรายมาก 

“ในฐานะ ปธ.กมธ.อุตสาหกรรม จะปล่อยเรื่องนี้เงียบไม่ได้ กรณีนี้ จนท.รัฐ จะต้องถูกสอบสวนหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด”

 

ที่มา อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ตอบให้เคลียร์ ทาง NBTConnext