ดันสมุย Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย เปิด ppp ท่าเทียบเรือสำราญ 1.2 หมื่นล้าน

09 เม.ย. 2567 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2567 | 18:31 น.
520

เอกชนตีปีกชี้นายกเศรษฐาลงพื้นที่สมุย สมาคมท่องเที่ยว ผนึกกระทรวงท่องเที่ยวดันเกาะสมุย Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย ชู 4 ประเด็นปลดล็อกข้อจำกัดท่องเที่ยว มุ่งเป้าขึ้น TOP 10 เกาะที่ดีที่สุดในโลก จ่อเปิด PPP ร่วมลงทุนสร้างท่าเทียบเรือสำราญ 1.2 หมื่นล้านบาท ปี 2569 ถึง 2570 นี้

การลงพื้นที่เกาะสมุยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายกฯได้หารือร่วมกับภาครัฐและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนในหลายเรื่องที่จะยกระดับเกาะสมุย ในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

โดยนายกฯเศรษฐาได้ให้โจทย์ที่จะผลักดันให้เกาะสมุย ติด 1 ใน 10 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก  จากปี 2021 ที่เคยติดอันดับ 7 จาก Travel & Leisure   และภายใน 10 ปี จะต้องขายทุเรียนสมุยได้เพิ่มขึ้น จากปีละ 120,000 ล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาทต่อปี การแก้ปัญหาสาธารณูปโภค และการสร้างท่าเทียบเรือสำราญ มูลค่าการลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูง

ท่าเทียบเรือสำราญสมุย

นายรัชชพร  พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นายกเศรษฐา ได้รับข้อเสนอของผู้ประกอบการท่องเที่ยวสมุย ที่จะส่งเสริมให้เกาะสมุยเป็น  Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งสมาคมฯจะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และสอดรับกับนโยบาย Ignite Tourism Thailand ของนายกรัฐมนตรี

โดยในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี สมาคมฯได้เสนอใน 4 เรื่องหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะสมุย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับไว้พิจารณาในทุกเรื่อง  ได้แก่

1.นโยบายการกำกับดูแล เพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว  โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยเหลือให้ธุรกิจกลับมาฟื้นฟูกิจการ รวมถึงขยายได้อีกครั้ง การขอลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ 

2. การขยายระยะเวลาท่องเที่ยวให้นานขึ้น และกระจายรายได้ทั่วประเทศ โดยขอให้ขยายระยะเวลาวีซ่าจากเดิม 30 วัน เป็น 90-120 วัน และทำวีซ่ารูปแบบ Multiple Entry Visa การขอวีซ่าสำหรับเข้าออกหลายครั้ง

รัชชพร  พูลสวัสดิ์

3. การแก้ปัญหาคอขวดในการเดินทางเข้าสมุย โดยเสนอให้พัฒนาระบบคมนาคมบนเกาะสมุย ทั้ง บก น้ำ และอากาศ ซึ่งปัจจุบันการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่สมุยมีข้อจำกัดด้านคมนาคมขนส่ง ทั้ง บก น้ำ และอากาศ โดยมีเที่ยวบินเข้าสมุยขาเข้า 50 เที่ยวบินและขาออก 50 เที่ยวบินเท่านั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทาง ที่ปกติจะอยู่ที่ 2.5 ล้านคนต่อปี จึงอยากผลักดันให้มีการขยายศักยภาพของสนามบินเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ Mega Event ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ขณะที่การเดินทางเข้าสมุย กว่า 60% จะใช้เรือเฟอร์รี่ ก็มีจำนวนเที่ยวเรือไม่เพียงพอกับความต้องการในการเดินทาง จึงเสนอให้ขยายระยะเวลาการเดินทางเรือให้เพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบันที่จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00 -22.00 น.

รวมถึงขอให้สร้างท่าเทียบเรือสำราญ และมารีน่า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูง เนื่องจากเฉพาะในฤดูกาลเรือสำราญเข้าเกาะสมุยกว่า 41 ลำ สร้างรายได้เฉลี่ย 15 ล้านบาทต่อลำ แต่สมุยไม่มีท่าเทียบเรือสำราญ ต้องใช้เรือเล็กนำนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่ง ไม่สะดวกและในเวลานาน จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นมาเที่ยวบนเกาะสมุย 

ส่วนถนนบนเกาะสมุย มีข้อจำกัด ไม่สามารถรองรับรถที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ จึงเสนอให้มีการศึกษาการสร้างถนนเลี่ยงเมือง (บายพาส) เพื่อลดปัญหารถติด และยังเป็นการขยายพื้นที่ในการสร้างธุรกิจได้เพิ่มขึ้น

4. การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในเรื่องของน้ำประปาที่ไม่เพียงพอ โดยขอให้แก้ไขเรื่องการส่งน้ำจากสุราษฏร์ธานี และเพิ่มแหล่งน้ำในพื้นที่ ส่วนปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้งาน มีการเสนอให้พัฒนาระบบการจัดการไฟฟ้า เป็นต้น

นายเสนีย์ ภูวเศรษฐาถร รองประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฏร์ธานี  กล่าวว่า การเดินทางมาลงพื้นที่สมุยของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทำให้สมุยจะถูกยกระดับเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยโครงการต่างๆที่คนในพื้นที่เรียกร้องมานาน เมื่อนายกฯลงพื้นที่ ก็จะทำให้เกิดการผลักดันต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และท่าเรือยอร์ช รวมถึงสนามบินซีเพลน ในพื้นที่ 58 ไร่ บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม  เพื่อดึงตลาดกำลังซื้อสูงเข้ามาสมุยเพิ่มขึ้น 

เสนีย์ ภูวเศรษฐาถร

โดยนายกฯจะนำโครงการนี้ ที่จะเป็นโครงการร่วมลงทุนเข้าครม.ในปลายปี 67 นี้ และผมมองว่าจะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สมุยเป็น HOME PORT หรือต้นทางที่นักท่องเที่ยวบินเข้ามาเที่ยวไทย และกลับเข้ามาพักต่อก่อนเดินทางกลับ รวมไปถึงนายกฯยังได้หารือกับผู้บริหารสนามบินสมุย ที่อยู่ระหว่างการเจรจาในเรื่องของที่ดินและการลงทุน ในการขยายรันเวย์ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันรับได้สูงสุดแค่แอร์บัส เอ 319 ที่มีข้อจำกัดสำหรับการบินเกิน 4 ชั่วโมง

ดันสมุย Tourism Hub ฝั่งอ่าวไทย  เปิด ppp ท่าเทียบเรือสำราญ 1.2 หมื่นล้าน

รวมถึงการแก้ปัญหาขยะ ซึ่งทุกวันนี้สมุยมีปัญหาขยะตกค้างราว 2-3 แสนตัน การนำขยะขนไปขึ้นฝั่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่เตาเผาขยะที่มีก็มีอุณหภูมิไม่เพียงพอที่จะเผาขยะได้เต็มที่ ซึ่งนายกก็ผลักดันให้สร้างเตาเผาขยะที่มีมาตรฐานเหมือนสิงคโปร์ ที่เผาขยะในอุณหภูมิสูงถึง 1,200-1,300 องศา เผาขยะได้ทุกประเภท และเหลือเป็นขี้เถ้าเพื่อเอาไปฝังกลบหรือถมที่ได้ 

ส่วนปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอ ซึ่งสมุยมีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ราว 3 หมื่นคิวต่อวัน แต่ปัจจุบันมีเพียง 2 หมื่นกว่าคิวต่อวัน ก็จะมีการต่อท่อน้ำเพิ่มอีก 1 ท่อ จากแม่น้ำพุมดวง สุราษฎร์ธานี ห่างจากสมุย 140 กิโลเมตร 

อีกทั้งนายกฯยังจะผลักดันให้ทุเรียนในสมุยที่ปลูกกันกว่า 100 สวน มีช่องทางการตลาดในการส่งออกที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการลงพื้นที่ของนายกฯช่วยทั้งเรื่องการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของ
สมุยด้วย โดยในปีนี้สมุยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวสมุยราว 2.5 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท 

นางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายกต้องการยกระดับเกาะสมุยให้เป็น TOP 10 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดของโลก ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย และททท. เพื่อที่จะร่วมมือไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้

สุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล

ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวของเกาะสมุยตอนนี้นักท่องเที่ยวกลับมาปกติเหมือนก่อนช่วงที่เกิดโควิด-19 แล้ว แต่ยังมีปัญหาของผู้ประกอบการยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เช่น พนักงานนวดหรือเทอราปิส เมื่อก่อนเคยมีถึง 1.2 แสนคน แต่ตอนนี้มีไม่ถึง 5 หมื่นคน กระทรวงท่องเที่ยวฯจะหารือกับกระทรวงแรงงาน หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อทำการฝึกอบรมบุคลากรในสาขาที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการ

สำหรับแผนการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ เกาะสมุยนั้น กรมเจ้าท่าได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จและได้มีการออกแบบพื้นที่โครงการ ซึ่งมีขนาด 47 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา ประกอบด้วย พื้นที่บนชายฝั่ง มีอาคารบริการที่จอดรถ และถนนสาธารณะ พื้นที่นอกฝั่ง มีอาคารผู้โดยสาร 3 ชั้น ท่าเรือยอร์ช ท่าเรือเฟอร์รี่ และสะพานขึง โดยเสนอให้พัฒนาท่าเรือฯ ในรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ 12,172 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนของภาครัฐ 6,538 ล้านบาท และภาคเอกชน 5,634 ล้านบาท 

ท่าเทียบเรือเกาะสมุย

โดยมีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจตลอดอายุโครงการถึง 46,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการ ฯ คาดสามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คน ต่อปี รองรับเรือ Cruise 120 เที่ยวเรือ ต่อปี โดยโครงการ จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่าวันละ 5,000 บาท ต่อคน

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำ PPP โดยนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้เสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีภายในปี 2567  คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นข้อเสนอ และลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ภายในปี 2569 ถึง 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2570 ถึง ปี 2572) ซึ่งท่าเรือจะสามารถเปิดให้บริการ ได้ในปี 2572