กทม. เปิดผลดี 4 ข้อ หลังจ่ายหนี้ BTS จำนวน 2.3 หมื่นล้าน คนกรุงได้อะไร

07 เม.ย. 2567 | 09:15 น.
5.6 k

กรุงเทพมหานคร แจง ข้อดี 4 ประการต่อการพัฒนาการคมนาคมกรุงเทพฯ หลังควักจ่ายหนี้ BTS จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท พร้อมไขข้อข้องใจ คนกรุงต้องควักจ่ายค่าโดยสารเพิ่มหรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ 

หลังจากที่ สภากรุงเทพมหานครได้ลงมติ 44 เสียงอนุมัติชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยกรุงเทพมหานครจะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 40,000-50,000 ล้านบาท ก้อนแรกวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงข้อดีที่คนกรุงจะได้รับหลังจากที่ กทม.จ่ายหนี้ให้กับ BTS จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหนี้ก้อนแรกนี้ โดยยืนยันว่า จะส่งผลดีต่อการพัฒนาการคมนาคมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีรายละเอียดใจความ ดังนี้

เปิดข้อดี ปลดหนี้ BTS คนกรุงเทพฯ ได้อะไร เมื่อ กทม. จ่ายหนี้ 2.3 หมื่นล้าน?

ทำไม กทม. ต้องจ่ายหนี้ หนี้ตั้งแต่เมื่อไร

วันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กทม. ชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) เพื่อเสริมสภาพคล่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 มูลค่า 23,312 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย

  • ส่วนต่อขยายที่ 1: อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า
  • ส่วนต่อขยายที่ 2: แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-คูคต

ผลดีของการจ่ายหนี้ 2.3 หมื่นล้านต่อการพัฒนาการคมนาคมกรุงเทพฯ 

1.กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในระบบไฟฟ้าเครื่องกล (E&M)อย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาการโต้แย้งความเป็นเจ้าของกับเอกชน ซึ่งปัญหาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอาจนำไปสู่ข้อพิพาท การฟ้องร้อง และความล่าช้าในการพัฒนาโครงการ

2.ลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องและการคิดดอกเบี้ยผิดนัด เช่นเดียวกับค่าจ้างเดินรถ(O&M) ป้องกันการสูญเสียเงินทุนของ กทม. รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายทำให้ประหยัดเงินภาษีของประชาชน

3.กรุงเทพมหานครจะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการจัดการเดินรถเนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทำให้ กทม. มีอำนาจในการเจรจาต่อรองค่าโดยสารกับผู้รับสัมปทาน และสามารถกำหนดมาตรฐานการบริการ และควบคุมดูแลการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.ลดภาระค่าดอกเบี้ยในการจัดหา ตามสัญญาจ้างติดตั้งระบบเดินรถ ซึ่งมีค่าดอกเบี้ยประมาณวันละ 3 ล้านบาท ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยนำค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแทน

กทม. เปิดผลดี 4 ข้อ หลังจ่ายหนี้ BTS จำนวน 2.3 หมื่นล้าน คนกรุงได้อะไร

การจ่ายหนี้มีผลต่อการปรับลดค่าโดยสารหรือไม่

การจ่ายหนี้ครั้งนี้เป็นค่าจ้างงานติดตั้งระบบเดินรถ "ไม่มีผลต่อค่าโดยสารในปัจจุบัน" เนื่องจากเป็นเงินที่ค้างชำระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

เมื่อจ่ายหนี้ครบแล้ว กทม. จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและไม่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ผิดนัดอีกในอนาคต หากต้องมีการทำสัมปทานใหม่ กทม. จะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองอัตราค่าโดยสารกับผู้รับสัมปทานได้

การชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นการปลดล็อกศักยภาพของโครงข่ายขนส่งสาธารณะ ทั้งยังช่วยให้ กทม. มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการจัดการเดินรถ และการพัฒนาโครงการอื่น ๆ เพื่อให้กรุงเทพฯ มุ่งสู่เมืองที่ระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ เพื่อความสะดวกสบายของชาวกรุงเทพฯ ทุกคน

ข้อมูล กรุงเทพมหานคร