เวียดนามแซงไทยสำเร็จ คว้าแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีนมากที่สุด  

06 เม.ย. 2567 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2567 | 17:01 น.
9.1 k

ทุเรียนไทยที่ครองตลาดจีนมายาวนาน กำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับทุเรียนสดจากเวียดนาม ที่ปัจจุบันมียอดส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าไทยได้แล้ว อีกทั้งยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 57% ด้วยปัจจัยความได้เปรียบหลากหลายประการ  

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ด่านเวียดนาม (https://danviet.vn) สื่อของทางการเวียดนามรายงานอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรจีนว่า ประเทศจีน นำเข้า ทุเรียนสด จำนวนรวมทั้งสิ้น 53.110 ตันในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 นี้ คิดเป็นมูลค่า 283.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.4% ในด้านปริมาณ แต่มูลค่าลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2566)

ทั้งนี้ เวียดนาม แซงหน้า ไทย ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ใน การส่งออกทุเรียนไปจีน ด้วยปริมาณ 32.750 ตัน มูลค่า 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกันของปี2566 ส่วนแบ่งตลาด หรือ มาร์เก็ตแชร์ ของทุเรียนเวียดนามในจีน คำนวณโดยมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 57% ในปีนี้ จากเดิม 32% ในปี 2566

ขณะเดียวกัน ข่าวระบุว่า ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม โดยมีปริมาณ 19.016 ตัน มูลค่า 120.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 50.3% ในแง่ปริมาณ และ 45.2% ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากสองแหล่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จีนยังนำเข้าทุเรียนจากประเทศฟิลิปปินส์ด้วย แต่ส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 2% ( มูลค่าราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ทุเรียนเวียดนามมีข้อได้เปรียบที่สามารถออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ราคาแข่งขันได้ และใกล้ตลาดจึงขนส่งได้เร็ว

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ราคาส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.916 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งยังต่ำกว่าราคาทุเรียนไทยที่อยู่ในระดับ 6.133 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ก็สูงกว่าราคาของทุเรียนฟิลิปปินส์ที่มีราคา 3.075 ดอลลาร์ต่อตัน

สื่อของทางการเวียดนามระบุว่า ข้อได้เปรียบสำคัญของทุเรียนเวียดนาม ก็คือเวียดนามมีผลผลิตทุเรียนที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ทุเรียนไทยไม่มีออกมา ทำให้ทุเรียนเวียดนามไร้คู่แข่งขัน

นอกจากนี้ อีกข้อได้เปรียบคือ ความใกล้ตลาด ทุเรียนเวียดนามเมื่อส่งออกไปยังประเทศจีน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งราคาก็สามารถแข่งขันได้

เหตุผลเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ทุเรียนเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างมากในตลาดจีนหลังจากที่เพิ่งเปิดตัวเข้าตลาดจีนในเวลาไม่ถึง 2 ปี

ทุเรียนสดของเวียดนามเข้ามาของเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดหลังฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนสดของไทย

ด้านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ข้อมูลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา (ธ.ค.2566) ว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 การส่งออกทุเรียนสดของเวียดนามไปยังตลาดจีนได้แซงหน้าทุเรียนสดของไทย ส่งผลให้ทุเรียนเวียดนามกลายเป็นผู้ค้าหลักในตลาดจีนในปัจจุบัน

ในเดือนตุลาคม 2566 ปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีนอยู่ที่ 120,000 ตัน เพิ่มขึ้น 100,000 ตันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จีนนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าทุเรียนจากไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนสดของเวียดนามเข้ามาของเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดหลังฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนสดของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี  ตามรายงานของสำนักข่าว Vietnam Online Newspaper ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน สูงถึง 452,000 ตัน เพิ่มขึ้น 3,190% เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพิ่มขึ้น 3,101%

ปัจจุบันเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกเพียงทุเรียนสดไปยังจีน ในขณะที่ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสด ทุเรียนสดแช่แข็ง และทุเรียนสดแปรรูปไปยังจีนได้ ซึ่งในอนาคต หากจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังจีนได้ยอดส่งออกโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงงานบรรจุภัณฑ์ทุเรียนสด 153 แห่งทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าเวียดนามมีความพร้อมที่จะส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนอย่างมาก ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผู้ส่งออกทุเรียนและหน่วยงานภาครัฐของไทยต้องเร่งหาทางออกเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกและรักษาส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนต่อไป