ตลาดไอศกรีมระอุ ‘มอลโต้’ คอลแลปส์แบรนด์ดัง-อินฟลูฯ เจาะนิวเจน

06 เม.ย. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2567 | 12:02 น.

“โคลด์คัลเจอร์” ปั้นแบรนด์ “มอลโต้” บุกตลาดไอศกรีม ชูกลยุทธ์คอลแลปส์แบรนด์ดัง- อินฟลูเอนเซอร์ ขยายฐานลูกค้านิวเจน พร้อมแตกไลน์เครื่องดื่ม “Molto Slushie” ตั้งเป้าเติบโต 100% ภายใน 3 ปี

นายธฤษณุ คมโนภาส ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท โคลด์คัลเจอร์ จํากัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไอศกรีมแบรนด์ “มอลโต้” (Molto) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลาดไอศกรีมทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะเติบโตและมีมูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดไอศกรีมในไทยมีการเติบโตขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสถาบันอาหาร National Food Institute ระบุว่า ในปีนี้ตลาดไอศกรีมไทยจะมีมูลค่าราว 1.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ไอศกรีมไทยมีความโดดเด่นคือรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทย เช่น ไอศกรีมกะทิสด ไอศกรีมมะยงชิด และไอศกรีมมะม่วง เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลคือ ตลาดขนมหวานมีการแข่งขันที่สูง ไม่ได้มีแค่ไอศกรีมเท่านั้น แต่ยังมีทั้งชานม ป๊อปคอร์น ขนมเค้ก และอื่นๆ รวมถึงแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดร่วมด้วย

ตลาดไอศกรีมระอุ ‘มอลโต้’ คอลแลปส์แบรนด์ดัง-อินฟลูฯ เจาะนิวเจน

“ก่อนหน้านี้มอลโต้เคยทำธุรกิจไอศกรีมแบบ B2B ส่งตามร้านอาหาร โรงแรม และคาเฟ่ แต่ด้วยวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดขายร่วงจาก 100% เหลือเพียง 2-3% เท่านั้น แต่มองว่า “วิกฤตคือโอกาส” จึงตัดสินใจหันมาปั้นแบรนด์ไอศกรีมของตัวเองภายใต้ชื่อ “มอลโต้” เน้นการขายแบบ B2C ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เมื่อช่องทางออนไลน์แข็งแรง เริ่มมีฐานลูกค้ามากขึ้น จึงขยับขยายไปสู่ออฟไลน์ด้วยการเปิดป๊อปอัปสโตร์และหน้าร้าน

ปัจจุบันมอลโต้มีสำนักงานใหญ่ที่คลองหลวง ปทุมธานี และมีสาขาทั้งหมด 18 แห่ง อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์, เดอะมอลล์งามวงศ์วาน, เซ็นทรัลภูเก็ต, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, สยามดิสคัฟเวอรี่, เมกาบางนา, แฟชั่นไอส์แลนด์, ไอคอนสยาม เป็นต้น ในรูปร้านขนาด 16 ตร.ม. และป๊อปอัป สโตร์ขนาด 8 ตร.ม. ที่จะเน้นเปิดตามหัวเมืองใหญ่

“มอลโต้ ถือเป็นแบรนด์ไอศกรีมเจลาโต้สัญชาติไทยระดับพรีเมียม ที่มุ่งมั่นนำเสนอความอร่อยและรสชาติเป็นหลัก ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบ มีความหลากหลายรสชาติ ทำให้ตรงใจกลุ่มเจน Z หรือวัยรุ่นยุคใหม่ ชอบความแปลกใหม่ กล้าลอง และเจน Y วัยทำงานที่มีกำลังซื้อ มองหาสินค้าที่มีคุณภาพ และความคุ้มค่า ซึ่งมอลโต้สามารถตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้”

ตลาดไอศกรีมระอุ ‘มอลโต้’ คอลแลปส์แบรนด์ดัง-อินฟลูฯ เจาะนิวเจน

โดยปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นราว 3 แห่ง ที่หัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด อีกทั้งจัดทำระบบหลังบ้าน รวมถึงการตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้นด้วยงบลงทุน 5 ล้านบาท พร้อมแตกไลน์เครื่องดื่ม “Molto Slushie” เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบรับดีเป็นอย่างมาก

ด้วยจุดเด่นที่มีส่วนผสมที่หลากหลาย โดนใจกลุ่มลูกค้าใหม่ พกพาสะดวกในการรับประทาน และบริษัทยังทำแคมเปญ “Molto x Little Monster” จากเพจ Little Monster คิดค้นไอศกรีมรสชาติพิเศษที่ถูกใจเด็กๆ เนื่องจากปีที่แล้วได้กระแสตอบรับดีจนต้องนำกลับมาอีกครั้งและในอนาคตแผนจะแตกไลน์ขนมขบเคี้ยว พร้อมตั้งเป้าหมายเติบโต 25% ในปีนี้และเติบโต 100% ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายธฤษณุ กล่าวว่า มอลโต้เน้นใช้กลยุทธ์ “คอลแลปส์” เพื่อผสมผสานเอกลักษณ์ของแบรนด์ต่างๆ และอินฟลูเอนเซอร์เข้ากับไอศกรีมเกิดเป็นรสชาติใหม่ๆ ที่ท้าทายความคาดคิด เช่น ไอศกรีมรส Egg Yolk Coconut ผลงานร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้า GQ นำเสนอไอศกรีมรสไข่แดงมะพร้าว

รวมถึงการร่วมงานกับแบรนด์ขนมขบเคี้ยวระดับตำนานไม่ว่าจะเป็น ไมโล,โอวัลติน, คอนเฟล็ก และเฟอเรโร รอชเชอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ออกรสชาติใหม่ ทั้งเมนูยืนพื้นและเมนู “ตามฤดูกาล” ในทุกๆหนึ่งเดือนเพื่อต้องการดึงดูดลูกค้า สร้างการรับรู้แบรนด์ และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

“ปัจจุบันมอลโต้มีรสชาติไอศกรีมมากกว่า 100 รสชาติ เน้นทำตลาดในรูปแบบ B2C ควบคู่ไปกับการตลาดออนไลน์โดยใช้ Generative AI เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ในการสื่อสารผ่านสองช่องทางเป็นหลัก ได้แก่ แอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก” อย่างไรก็ดีการบริโภคไอศกรีมในยุคปัจจุบันพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น

ตลาดไอศกรีมระอุ ‘มอลโต้’ คอลแลปส์แบรนด์ดัง-อินฟลูฯ เจาะนิวเจน

สำหรับเทรนด์สุขภาพนั้น ผู้บริโภคเริ่มมองหาไอศกรีมที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย หรือไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิค นอกจากนี้ เทรนด์ความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญเช่นกัน มอลโต้จึงใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่ย่อยสลายได้และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด

“ผลประกอบการของมอลโต้ อยู่ในช่วงลงทุนซึ่งอาจจะมีผลกำไรไม่มากนัก แต่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้กว่า 31 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้กว่า 53 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้ราว 80 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีเป็นอย่างมากจากไอศกรีมเจ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เช่นเดียวกับไตรมาสสองที่อยู่ในช่วงหน้าร้อน”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 3,980 วันที่ 4 - 6 เมษายน พ.ศ. 2567