3 ประเทศ ชง ICAO เปิดเส้นทางบินใหม่ต้นปี 69 เชื่อมน่านฟ้าไทย ลาว จีน

28 มี.ค. 2567 | 21:22 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2567 | 22:19 น.
941

วิทยุการบิน เผย 3 ประเทศหารือ เสนอ ICAO เปิดเส้นทางบินใหม่ผ่านน่านฟ้า ไทย ลาว จีน รับดีมานด์เที่ยวบินเพิ่ม 2 แสนเที่ยวบินต่อปี คาดเปิดใช้ปี 2569 ทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน ทำเส้นทางบินคู่ขนานเชื่อมภูมิภาคดันไทยเป็นศูนย์กลางการบิน

นายณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินเห็นสัญญาณว่าในภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะตลาดจีน และอินเดีย ปัจจัยจากปริมาณการสั่งซื้อเครื่องบินที่มีรวมมากกว่า 1 พันลำ 

ณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์

ส่งผลให้วิทยุการบินต้องวางแผนบริหารน่านฟ้าให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ประเทศ ประกอบด้วย

  • ไทย
  • ลาว
  • จีน

ศึกษาความเหมาะสมของการเปิดเส้นทางบินใหม่ ที่จะรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 แสนเที่ยวบินต่อปี เพิ่มเป็น 2 แสนเที่ยวบินต่อปี 

ปัจจุบันการเดินทางไปจีน จะต้องใช้เส้นทางบินเดียวเป็นประตูเข้าออกที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนดไว้ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของน่านฟ้าลาว มีชื่อ SAGAG เป็นชื่อจุดรายงานบนเส้นทางบิน A581 และ B218 ซึ่งอยู่ระหว่างเขตรอยต่อของ FIR (Flight Information Region) หรือเขตแถลงข่าวการบินของจีนและ ลาว และมีจุดกึ่งกลางที่เป็นคอขวดมีความแออัดของเที่ยวบินในบริเวณนั้น ซึ่งช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เที่ยวบินจำเป็นต้องรอเข้าคิวเพื่อบินผ่านจุดนี้หลายชั่วโมง

ทำให้วันนี้ทั้ง 3 ประเทศกำลังมาคุยกันว่า จะต้องศึกษาเส้นทางบินใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้สายการบิน ลดความแออัดของน่านฟ้า โดยจะเป็นเส้นทางบินคู่ขนานกับเส้นทางเดิม

เส้นทางบินใหม่ผ่าน 3 น่านฟ้า ไทย - ลาว - จีน

สำหรับสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือร่วม 3 ประเทศ เพื่อเตรียมนำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศ ก่อนเสนอไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พิจารณาอนุมัติ ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน ก่อนประกาศใช้เส้นทางบินใหม่นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้เส้นทางบินใหม่ในต้นปี 2569 

ทั้งนี้นอกจากจะส่งผลให้ 3 ประเทศ มีทางเลือกในการทำการบินเชื่อมต่อกันเพิ่มขึ้นแล้ว จะยังเป็นทางเลือกให้สายกายการบินจากทุกประเทศ สามารถบินผ่านเส้นทางการบินนี้ได้ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันดีมานด์การเดินทางจากจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีเที่ยวบินบินเข้าไทยฟื้นตัวราว 80% หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประกอบกับตลาดอินเดียยังเป็นตลาดใหม่มาแรงที่เติบโตต่อเนื่อง

ส่งผลให้ในปี 2567 วิทยุการบินคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินบินเข้าไทยรวมกว่า 9 แสนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 8 แสนเที่ยว และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีจำนวน 1 ล้านเที่ยว

เช่นเดียวกับรายได้ของวิทยุการบินใน ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 - 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท 

ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค วิทยุการบินก็พร้อมสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน 

ทั้งนี้วิทยุการบินได้จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ทางด้านเหนือไปยังสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน

ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ในขณะที่ด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ส่วนด้านตะวันตก อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป 

ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนดทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง

ในส่วนของการให้บริการจราจรทางอากาศนั้น การบริหารจัดการความคล่องตัว (Air Traffic Flow Management: ATFM) ช่วยทำให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ลดผลกระทบการล่าช้าของเที่ยวบินในช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation: HIRO) จะช่วยเพิ่มการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ถึง 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และท่าอากาศยานดอนเมือง 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) มาใช้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน รวมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น 

โดยแบ่งเป็นการดำเนินงาน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน