"คมนาคม" ถกสำนักงบฯ เร่งเบิกจ่ายค่าเค อุ้มรับเหมา-พยุง ITD

22 มี.ค. 2567 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 15:37 น.
2.4 k

“คมนาคม” ถกสำนักงบประมาณ เร่งเบิกจ่ายค่าเค เหตุเอกชนอ่วมแบกต้นทุนก่อสร้างบิ๊กโปรเจ็กต์ถนนพระราม 2 พุ่ง หลังทล.จำกัดเวลาทำงาน หวั่นเกิดอุบัติเหตุ ฟาก กทพ.ยันจ่ายค่าเคตรงเวลาไม่กระทบปม ITDขาดสภาพคล่อง ขณะรฟท. รอรับจัดสรรงบปี 67 จ่ายค่าเคพยุง ITD

 

กรณี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ยักษ์รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของไทย แจ้งผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวประสบปัญหาสภาพคล่อง จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่ครบตามจำนวน ว่าเป็นเรื่องจริงและมีความพยายาม เจรจากับสถาบันการเงิน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงเจรจากับภาครัฐเร่งเบิกจ่าย เงินชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามา โดยเฉพาะบางโครงการภาครัฐอาจมีข้อกำจัดในการทำงานเป็นสาเหตุให้การเบิกจ่ายล่าช้าออกไป

 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่ ITD ติดปัญหาสภาพคล่องว่า ที่ผ่านมาผู้รับเหมาในโครงการต่างๆบนถนนพระราม 2 ได้รับผลกระทบจากกรมทางหลวง (ทล.) จำกัดเวลาในการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้โครงการต่างๆมีความล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้เอกชนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุดังกล่าว ปัจจุบันกระทรวงเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าเคให้กับเอกชนในภาพรวมไม่ใช่เฉพาะ ITD เท่านั้น เบื้องต้นกระทรวงอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อเร่งรัดของบประมาณรายจ่ายงบกลางในการจ่ายค่าเคให้กับเอกชนที่ได้รับผลกระทบบนถนนพระราม 2 เพื่อให้โครงการต่างๆบนถนนพระราม 2 สามารถเปิดให้บริการได้ทันภายในปี 2568 คาดว่าจะได้รับงบประมาณฯ ภายใน 2-3 เดือน

 “ที่ผ่านมาการจ่ายค่าเคอยู่ที่สำนักงบประมาณว่าจะสามารถจ่ายได้อย่างไร โดยส่วนใหญ่จะเป็นการนำงบประมาณรายจ่ายงบกลางมาดำเนินการ ซึ่งจะต้องพิจารณาดูด้วยว่าความสามารถในการนำงบกลางมาจ่ายของรัฐบาลมีมากน้อยแค่ไหน”

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  (กทพ.) กล่าวว่า กรณีที่ ITD เกิดปัญหาสภาพคล่องนั้นปัจจุบันกทพ.มีการเบิกจ่ายค่าเคตรงตามงวดมาตลอด เนื่องจากกทพ.ใช้งบประมาณจากกองทุน (TFF) มาชำระให้แก่เอกชนทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ขณะนี้พบว่ากทพ.มีการเบิกจ่ายค่าเคให้เอกชนไปแล้วประมาณ 60%

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงกรณีITD เกิดปัญหาสภาพคล่องจนส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) นั้น ในปัจจุบัน ITD จะมีสัญญาก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟทางคู่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้กระทบต่อแผนโครงการฯของรฟท. ซึ่งเอกชนยังคงดำเนินการตามปกติ

“ปัญหาภายในของเอกชนที่เกิดขึ้น เราไม่ขอก้าวล่วงแต่รฟท.คงจับตามองงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ITD เป็นพิเศษ ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร ส่วนการเบิกจ่ายเงินให้เอกชนไม่ได้มีความล่าช้า แต่ติดเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ที่ต้องรองบประมาณปี 2567 ก่อน คาดว่าหากสามารถเบิกจ่ายค่าเคได้จะทำให้เอกชนสบายตัวมากขึ้น”

  สำหรับโครงการของรฟท.ที่อยู่ในมือ ITD จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว วงเงิน 26,560 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เป็นผู้รับจ้าง ในสัญญาก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา- คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับจ้าง ในสัญญาก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้าง ในสัญญาก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807 ล้านบาท มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับจ้าง ในสัญญาก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

5.โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา สำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า วงเงิน 9,348 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 เป็นผู้รับจ้าง ในสัญญาก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)