“กทพ.” ปรับแผนสร้าง “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.6 หมื่นล้าน

20 มี.ค. 2567 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 13:12 น.
2.3 k

“กทพ.” ปรับแผนลงทุนใหม่ สร้าง “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หลังเอกชนเมินชิงซองประมูลรอบแรก เตรียมชงครม.ไฟเขียวประมูลหาผู้รับจ้าง รอบ 2 ภายในเดือนพ.ค.นี้ คาดเปิดให้บริการปี 72

KEY

POINTS

  • “กทพ.” ปรับแผนลงทุนใหม่ สร้าง “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หลังเอกชนเมินชิงซองประมูลรอบแรก
  • เตรียมชงครม.ไฟเขียวประมูลหาผู้รับจ้าง รอบ 2 ภายในเดือนพ.ค.นี้ คาดเปิดให้บริการปี 72 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 16,492 ล้านบาท เบื้องต้นกทพ.ได้ปรับรูปแบบการลงทุนในโครงการฯ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งผลให้วงเงินลงทุนโครงการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรืออยู่ที่ 10,700 ล้านบาท จากเดิมที่ค่าก่อสร้างอยู่ที่ 8,900 ล้านบาท และค่างานเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 5,792 ล้านบาท

 

“โครงการฯที่กทพ.เสนอในครั้งนี้จะนำร่องเฉพาะช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะที่ 1 ก่อน เบื้องต้นกทพ.ได้มีการปรับรูปแบบการลงทุน โดยกทพ.เป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาเอง ซึ่งจะใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้หรือพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 80% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้งบประมาณในรูปแบบใด ส่วนอีก 20% จะใช้งบประมาณจากรายได้สะสมของกทพ. จากเดิมเป็นรูปแบบที่ให้เอกชนร่วมลงทุน”
 

ทั้งนี้ในปัจจุบันกทพ.ได้เสนอขออนุมัติโครงการฯ ต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ,สำนักงบประมาณ,กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดทำร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับจ้างภายในเดือนมิถุนายน 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือน และเริ่มลงนามสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568   

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า โครงการฯนี้หลังจากผู้ชนะการประมูลลงนามสัญญาแล้วเสร็จ เอกชนจะต้องสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการฯ (Design & Build) และดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกัน เนื่องจากโครงการมีแนวเส้นทางในรูปแบบอุโมงค์ ใช้ระยะเวลาออกแบบประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572 

ส่วนความคืบหน้าการเวนคืนที่ดินในโครงการฯ มีที่ดินที่ต้องเวนคืน จำนวน 192 แปลง และสิ่งปลูกสร้างจำนวน 222 หลังโดยพื้นที่ที่ถูกเวนคืนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้,กรมทางหลวง ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ ปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วประมาณ 40% ซึ่งพื้นที่บางส่วนสามารถส่งมอบให้เอกชนเข้าพื้นที่ได้แล้ว คาดว่าจะเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จภายในปลายปี 2568  
 

นอกจากนี้ผลการศึกษาของโครงการฯ ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) กับ 20.44% ขณะที่ผลตอบแทนด้านการเงินมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,734 ล้านบาท Equity Irr 8.50% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 1.12 เท่า ระยะเวลาคืนทุน 21 ปี

“กทพ.” ปรับแผนสร้าง “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.6 หมื่นล้าน  

ขณะที่งานบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ของโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เบื้องต้น กทพ.จะศึกษาการเปิดประมูลโดยรวมโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ (ระยะที่ 2) ระยะทาง 30 กม. ซึ่งเป็นการให้เอกชนรายเดียวร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP สัญญาสัมปทาน 30 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบาย PPP พิจารณา ภายในต้นปี 2568 หลังจากนั้นจะเสนอต่อครม.เห็นชอบต่อไป 

 

สำหรับโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่ ต.ป่าตอง บริเวณจุดตัด ถ.พระเมตตา ก่อสร้างเป็นทางยกระดับและอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นทางยกระดับข้าม ถ.พิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด แล้วจึงเป็นอุโมงค์คู่ หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับและสิ้นสุดโครงการที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล. 4029 มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน