สหฟาร์ม ปักธงยอดขายปี 67 โต 10% ชี้ยอดส่งออกทุบสถิติสูงสุดใหม่

19 มี.ค. 2567 | 07:00 น.
882

สหฟาร์ม วางเป้าการเติบโตยอดขายปี 67 ไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน ยิ้มการตอบรับตลาดต่างประเทศยังดี ยอดส่งออกปีนี้ทุบสถิติสูงสุดใหม่ ชี้ภาครัฐชะลอนำเข้าวัตถุดิบอาหการสัตว์กระทบต้นทุนเกษตรกรเพิ่มสูง ต้องคำนึงถึงผลเป็นแกนสำคัญ

ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ประธานคณะบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัทในเครือ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 67 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจากที่ได้ออกจากแผนการฟื้นฟูกิจการไปเมื่อปี 65 ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจยังคงดำเนินการได้ดีอย่างต่อเนื่อง สอดรับตามความต้องการบริโภคเนื้อไก่ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เติบโต โดยในปี 66 บริษัทมีการส่งออกเนื้อไก่ไปกว่า 1.7 แสนตันต่อปี จากปีก่อนหน้าที่ 1.1 แสนตันต่อปี

โดยคาดว่ายอดขายจากการส่งออกในปี 67 นี้ จะขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้นและสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ทั้งในแง่ของปริมาณการจำหน่ายและรายรับ ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน ญี่ปถ่น เกาหลี ฮ่องกง และสิงคโปร์ นอกจากนี้ บริษัทยังคงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าต่างชาติอยู่ เชื่อมั่นใจคุณภาพ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค

แม้ว่าในปี 66 ต้นทุนอาหารสัตว์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากปีก่อน ในขณะที่ราคาจำหน่ายไม่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้สูงนักเมื่อเทียบกับต้นทุน ทำให้บริษัทได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงและทำให้ความสามารถในการแข่งขันราคากับประเทศคู่แข่งที่มีการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ อาทิ สหรัฐ และจีนได้ แต่ด้วยผลิตภัณฑ์ไก่ของบริษัทที่มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของการเพาะเลี้ยง การแปรรูป คุณภาพที่ดี มีมาตรฐานระดับสากล ทำให้ยังได้รับการตอบรับที่ดี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไก่ได้

ประเด็นที่ภาครัฐจะลดปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด กากถั่วเหลือง และปลาป่น จากต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบให้วัตถุดิบอาการสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ และทำให้ราคาขายขยับขึ้นสูงนั้น มองว่าอาจเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐอาจคำนึงถึงราคาต้นทุนต่อราคาขายด้วย อาทิ ราคาข้าวโพด 4 กิโลกรัม ต่อ ราคาขายไก่ 1 กิโลกรัม อันไหนที่มีความสำคัญต่อการบริโภคของประชากรในประเทศมากกว่ากัน