รัฐบาลตั้ง “ม.ล.ชโยทิต” หัวหอกดึงบิ๊กเอกชนสหรัฐฯ ลงทุนไทย

15 มี.ค. 2567 | 06:01 น.
1.7 k

ไทย-สหรัฐฯ ลุยเชื่อมการลงทุนเต็มสูบ รัฐบาลตั้ง “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” เป็นหัวหอกประสานงาน หวังดึงเอกชนสหรัฐ เข้ามาลงทุนในไทย ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ EV พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมกันระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งคณะนักธุรกิจของสหรัฐฯ นำโดยประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ได้เป็นหัวหน้าทีมในการดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐฯ ภายหลังม.ล.ชโยทิต เป็นผู้ที่เดินสายลงไปหารือในรายละเอียดกับภาคเอกชนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และจากนี้อาจมีการตั้งทีมที่จะหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อดึงเข้ามาลงทุนต่อไป

“การหารือระหว่างนายกฯ และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตั้ง ม.ล.ชโยทิต ไปคุยรายละเอียดของการทำงานร่วมกันกับเอกชนมาแล้ว และจากนี้จะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อดุงดูดเข้ามาลงทุนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย เพราะปัจจุบันไทยกำลังดันเมกะโปรเจกต์ เช่น แลนด์บริดจ์ รวมไปถึงส่งเสริม EV อุตสาหกรรมสีเขียว ดาต้าเซ็นเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้เห็นศักยภาพของไทยแล้ว” แหล่งข่าวระบุ

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา

ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอ พร้อมใช้เครื่องมือส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ดึงนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากต้องการใช้ช่องทางของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน ซึ่งมีสิทธิประโยชน์พิเศษอยู่ ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ ซึ่งทางบีโอไอ พร้อมพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม

สำหรับการหารือร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ในประเด็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ นั้น ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของไทย ทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยเปิดรับภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยไทยมีจุดแข็งในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน 

รวมถึงรัฐบาลกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้ง่ายมากขึ้น และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ และแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยินดีที่ได้มามาเยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งได้มีโอกาสหารือกับหลายกระทรวง รวมถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ให้เป็นรูปธรรม

พร้อมกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและความพยายามของรัฐบาลในการแสดงบทบาทเชิงรุก ผ่านการเดินทางไปพบปะหารือกับทางผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี สามารถสร้างการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง