การบินไทยแจงแล้วกรณีปฏิเสธผู้โดยสารนั่งวีลแชร์ขึ้นเครื่องบิน

14 มี.ค. 2567 | 17:24 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 18:07 น.
2.4 k

การบินไทยแจงแล้วกรณีปฏิเสธผู้โดยสารนั่งวีลแชร์ขึ้นเครื่องบิน แจงยิบ 4 ขั้นตอนดำเนินการรับผู้โดยสารที่มีอาการป่วยที่ได้รับการรักษา หรือไม่สามารถเดินทางในสภาพการนั่งปกติตลอดเที่ยวบิน ยันหากผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิปฏิเสธการเดินทาง

ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาระบุว่าผู้โดยสารถูกปฏิเสธการเดินทางในเที่ยวบินของบริษัทฯ ในเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ และบริษัทฯ ได้ชี้แจงเบื้องต้นว่าอยู่ระหว่างการประสานรับทราบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นั้น

วันนี้ (วันที่ 14 มีนาคม 2567) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงเพิ่มเติมถึงขั้นตอนดำเนินการรับผู้โดยสารที่มีอาการป่วยที่ได้รับการรักษา และมีอาการคงที่ หรืออาจมีอาการทรุดลงระหว่างเดินทาง หรือไม่สามารถเดินทางในสภาพการนั่งปกติตลอดเที่ยวบิน หรือมีแนวโน้มความเป็นไปได้ในการต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ระหว่างการเดินทาง หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ยังต้องดูอาการแทรกซ้อน หรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา หรือมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายระหว่างเที่ยวบิน อันเกิดจากอาการป่วยของผู้โดยสาร ดังต่อไปนี้

1. ในขั้นตอนการสำรองที่นั่ง (Reservation) ผู้โดยสาร (หรือผู้แทน) ต้องติดต่อสำนักงานการบินไทย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงอาการป่วย ข้อจำกัด ข้อปฏิบัติ และความช่วยเหลือด้านการแพทย์ที่ผู้โดยสารอาจมีความต้องการได้รับระหว่างเที่ยวบิน โดยให้ “แพทย์ผู้ทำการรักษา” กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Information Form หรือชื่อย่อ MEDIF) นำส่งบริษัทฯ ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง

2. บริษัทฯ จะส่ง MEDIF ที่ได้รับจากผู้โดยสารให้โรงพยาบาลที่บริษัทฯ มีบันทึกข้อตกลง โดยมีทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสำหรับการเดินทางทางอากาศ เพื่อประเมินอาการป่วย ประเมินความพร้อมในการเดินทางของผู้โดยสาร ประเมินความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและขีดความสามารถของบริษัทฯ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบิน โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ปรากฏใน MEDIF ที่ได้รับจากแพทย์ผู้ที่ได้ทำการรักษา

3. เมื่อทีมแพทย์ของโรงพยาบาลที่บริษัทฯ มีบันทึกข้อตกลง ได้ประเมินและให้ความเห็นว่าผู้โดยสารสามารถเดินทางบนเที่ยวบินของบริษัทฯ ได้ บริษัทฯ จะแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ รวมถึงแจ้งข้อปฏิบัติและเงื่อนไขในการเดินทางตามความเห็นที่แพทย์ได้จัดทำขึ้น (หากมี) และดำเนินการออกบัตรโดยสาร (Ticketing) ต่อไป

4. ในกรณีที่ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลที่บริษัทฯ มีบันทึกข้อตกลง ประเมินแล้วมีความเห็นว่าผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิต จากอาการป่วยระหว่างการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร บริษัทฯ จะแจ้งปฏิเสธการเดินทางให้ผู้โดยสารทราบในทันทีโดยอ้างอิงจากผลการประเมินของทีมแพทย์ฯ 

ขั้นตอนการดำเนินการข้างต้นเป็นมาตรฐานตามคู่มือการให้บริการผู้โดยสารของบริษัทฯ ที่จัดทำขึ้น อ้างอิงตามมาตรฐานการปฏิบัติในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า บริษัทฯ มีขีดความสามารถเพียงพอในการอำนวยความสะดวก และให้การช่วยเหลือผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบินโดยไม่ส่งผลกระทบต่ออาการป่วยและความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงเป็นขั้นตอนที่บริษัทฯ ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เผยแพร่ขั้นตอนการดำเนินการข้างต้นไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ  คลิ๊ก โดยผู้โดยสารยังสามารถสอบถามได้โดยตรงที่สำนักงานสาขาของบริษัทฯ ในท่าอากาศยานที่บริษัทฯ มีเที่ยวบินให้บริการ หรือศูนย์บริการทางโทรศัพท์ของบริษัทฯ (THAI Contact Center) หมายเลข 66 2 3561111 ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หากผู้โดยสารไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิปฏิเสธการเดินทาง

ทั้งนี้การดำเนินการจะอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องรับทราบข้อมูลตามที่ระบุในแบบฟอร์ม MEDIF ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และไม่สามารถประเมินความพร้อมในการเดินทางของผู้โดยสาร จากข้อมูลในใบรับรองซึ่งแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ “ไม่ได้เป็นผู้ทำการรักษาผู้โดยสารที่ป่วยนั้น” เป็นผู้ออกให้ได้

บริษัทฯ ขอเรียนเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้โดยสารทุกท่านว่า บริษัทฯ และบุคลากรของบริษัทฯ ทุกคน ให้บริการโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญเสมอมา มีมาตรการการปฎิบัติงานและให้บริการในระดับสากลทัดเทียมกับสายการบินชั้นนำในอุตสาหกรรม โดยดูแลผู้โดยสารตลอดการเดินทาง และยังคงพร้อมให้ความช่วยเหลือพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร หากมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอนอย่างสุดความสามารถ

บริษัทฯ จึงใคร่ขอเรียนชี้แจงมาเพื่อโปรดทราบข้อเท็จจริงดังที่ได้เรียนข้างต้น และขอความร่วมมือผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โปรดใช้วิจารณญาณในการแชร์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างระมัดระวัง ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน ไม่ทำให้บริษัทฯ หรือผู้เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารโพสต์ผ่านโซเชี่ยลว่า แม่ถูกสายการบินไทยปฎิเสธการขึ้นเครื่องจากสนามบินคุนหมิง ประเทศจีน โดยระบุว่า วันที่ 25 ก.พ. คุณแม่ของเขาเกิดอุบัติเหตุล้ม จึงต้องเข้ารับการรักษาที่รพ. ที่จีน เป็นการรักษาแบบลดอาการบวมที่เข่า และในวันที่ 27 ก.พ. ได้ปรึกษากับแพทย์ชาวจีนขอกลับมาผ่าตัดที่เมืองไทย โรงพยาบาลจึงออกใบรับรองแพทย์ให้

จากนั้นวันที่ 28 ก.พ. จึงทำการจองตั๋วเครื่องบินกับการบินไทย โดยจองตั๋วชั้นธุรกิจ หรือ Business Class เพื่อต้องการให้คุณแม่ได้นั่งสบาย ๆ หลังจากซื้อตั๋วแล้วมีการแจ้งขอวีลแชร์ทั้งขาขึ้นเครื่องและลงเครื่อง ฝั่งพนักงาน ก็รับทราบปกติ ก็ไม่ได้มีการปฎิเสธใดๆ

ต่อมาวันเกิดเหตุ 29 ก.พ.2567 ตนกลัวจะมีปัญหาฝั่งจีนจึงได้ติดต่อมายังโรงพยาบาลเพื่อขอให้ออก Fit to Fly หรือใบรับรองแพทย์ที่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ ซึ่งทางคุณหมอได้ดูฟิล์มคุณแม่และได้พูดคุยกันแล้ว ก็ตกลงออก Fit to Fly ให้ แต่พอไปเช็คอินที่สนามบินคุนหมิง กลับถูกปฎิเสธ ทั้งๆ ที่ตนและคุณแม่เดินทางมาจากลี่เจียง เพื่อมาขึ้นเครื่องการบินไทยที่คุนหมิง