เฝือกขาจากยางพารา ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จ

10 มี.ค. 2567 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2567 | 16:40 น.

กรมวิทยาศาสตร์บริการ อว. ต่อยอดงานวิจัยดัน "เฝือกขาจากยางพารา" (Bio-Slab) ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จ หวังเป็นอุปกรณ์ทางเลือกแทนเฝือกปูนแบบเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศ

กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย ล่าสุดได้จัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab) เพื่อใช้อ้างอิงในการรับรองคุณภาพจนสามารถผลักดันให้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย (Thailand Innovation) ของสำนักงบประมาณ

ได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ด้วยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่า (Value Creation) แก่ผลิตภัณฑ์

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า เฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab) เป็นผลงานวิจัยของ นพ.นิยม ละออปักษิณ และทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (2560-2579) โดยพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ทางเลือกแทนเฝือกปูนแบบเดิม

ข้อดี คือ ความแข็งแรง น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทำความสะอาดง่าย สะดวกต่อการใช้งาน สามารถใส่เองที่บ้านได้และมีประสิทธิภาพในการประคองข้อเท้าได้ดี ด้วยคุณสมบัติของยางพาราทำให้ผลิตภัณฑ์เฝือกที่ได้มีความแข็งแรงเหมาะสมกับการใช้งานเป็นเวลานาน

งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่มีการนำไปใช้งานจริงเนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานที่ใช้ในการรับรองคุณภาพของเฝือกขาที่ผลิตขึ้น กระทั่งมีการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะของเฝือกขายางพาราดังกล่าว และได้ประกาศใช้ข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา DSS 4

นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมไทย โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีคุณภาพตรงตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างที่ตรงตามรายการในบัญชีสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้