เศรษฐกิจไทย ม.ค.67 ส่งออกโตต่อเนื่อง 6 เดือน ลงทุนเอกชนหดตัว

03 มี.ค. 2567 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2567 | 16:56 น.

คลังเผยเศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.67 มีสัญญาณดีขึ้นจาก “ท่องเที่ยว-บริโภค-ส่งออก” ฝั่งการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง จับตาสถานการณ์ภายนอก-ภายใน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 9.4 ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -1.8  แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.6 

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -2.7 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.1 ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.6 

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -26.5  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1  

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.2 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.8 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.3 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.0 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 

“ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 106.3 56.3 และ 32.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 45.9 30.1 23.3 และ 18.6 ตามลำดับ”

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน สำหรับภาคบริการมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน  3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 41.5 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ 

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.4 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.2 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล ยังคงขยายตัว 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน  รวมถึงภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก

เศรษฐกิจไทย ม.ค.67 ส่งออกโตต่อเนื่อง 6 เดือน ลงทุนเอกชนหดตัว

“เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ -1.11 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.3 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”

ทั้งนี้ เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ