"กระทรวงอุตสาหกรรม" ปลดล็อก "Solar Rooftop" โรงงานไม่ต้องขออนุญาต

02 มี.ค. 2567 | 08:29 น.
14.1 k

"กระทรวงอุตสาหกรรม" ปลดล็อก "Solar Rooftop" โรงงานไม่ต้องขออนุญาต หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก พร้อมเตรียมผลักดันการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจากโซลาร์รูฟท็อป

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.อยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกให้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก 

อีกทั้ง กรอ. ยังเตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Rooftop ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) โดยผู้ประกอบการสามารถนำ Solar Rooftop เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ 

รวมถึงผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop สามารถนำโครงการไปขอสินเชื่อสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop จากสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank 

"กระทรวงอุตสาหกรรม" ปลดล็อก "Solar Rooftop" โรงงานไม่ต้องขออนุญาติ

โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำนวน 169 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพิ่มขึ้นกว่า 100%

นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า กรอ. ดำเนินโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ ให้ความรู้ความเข้าใจ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มการผลิต การลดต้นทุนด้านพลังงาน 

การลดต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทน โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2559 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2,998 ราย และมีเครื่องจักรที่ได้รับการตรวจสอบปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนแล้วไม่น้อยกว่า 12,500 เครื่อง

"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าในปี 2567 จะสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs จดทะเบียนเครื่องจักร จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 เครื่อง และมีมูลค่าการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท”