จ่อชงครม.เวนคืน สร้าง "รถไฟทางคู่มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ" 2.9 หมื่นล้าน

28 ก.พ. 2567 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 16:44 น.
642

"สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม" กางแผนความคืบหน้าสร้าง "รถไฟทางคู่มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ" มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท จ่อชงครม.เคาะเวนคืนภายใน มี.ค.นี้ คาดเปิดให้บริการปี 68

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุนประมาณ 29,968 ล้านบาท

โดยปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ด้านงานโยธาคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 95.768 ช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.232 เนื่องจากอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน

"มีความมั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ จะมีความพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568 ตามเป้าหมายที่วางไว้"

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ มีจุดเริ่มต้นก่อสร้างที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และมาสิ้นสุดโครงการที่สถานี ชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ส่วนการตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟมวกเหล็กใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร ปัจจุบันภาพรวม การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการออกหนังสือรับรองการแล้วเสร็จของงาน จึงมอบหมายให้ การรถไฟฯ เร่งดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการทางคู่ช่วงดังกล่าวได้ภายในปลายปี 2567 เพื่อรองรับ การเดินทางของผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ทั้งนี้รฟท.ได้รายงานชี้แจงการออกแบบหลังคาคลุมชานชาลารถไฟทางคู่ที่มีลักษณะสั้น ซึ่งตามรูปแบบโครงสร้างสะพาน จำเป็นจะต้องมีความสูงและมีระยะห่างจากรางรถไฟเพียงพอ เพื่อที่จะให้พ้นจากเขตโครงสร้างจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถ

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดแก้ไขปัญหาชุมชนโดยรอบทางรถไฟ ในพื้นที่สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 110 แปลง โดยให้ใช้วิธีเจรจาปรองดองเกี่ยวกับพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้าง และจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับผู้ถูกเวนคืนอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ความคืบหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับอนุมัติดำเนินการในเดือนมีนาคม 2567 และสามารถจ่ายเงินค่าเวนคืนได้ในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2567

นอกจากนี้สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใหม่ ตามพระราชบัญญัติ 2562 โดยการรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ปี 2548 แล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว