กต.ดันเศรษฐกิจไทย-ลาว "ท่องเที่ยว-ค้าชายแดน" 3.6 แสนล้าน

21 ก.พ. 2567 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2567 | 07:54 น.

รมช.ต่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย (19 ก.พ.) ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่การจัดตั้ง CCA เพิ่มความสะดวกด้านศุลกากร การส่งเสริมด้านท่องเที่ยว ไปจนถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบราง หนุนเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าชายแดน 3.6 แสนล้านปี 68

KEY

POINTS

  • หนองคายเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในฐานะ “ประตู” การค้าระหว่างไทยกับสปป. ลาว และจีนตอนใต้
  • นายกฯ ได้ลงพื้นที่ จ.หนองคาย 2 ครั้ง ทั้งยังได้นำประเด็นที่ได้จากการลงพื้นที่ไปหารือกับผู้นำของลาว ในระหว่างการเยือน สปป. ลาว เมื่อเดือน ต.ค. 66 
  • การลงพื้นที่หนองคายของ รมช.กต. ล่าสุด (19 ก.พ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าของประเด็นต่าง ๆ และหนุนการค้าชายแดนที่ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3.6 แสนล้านบาทในปี 68

 

การลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจ “ประตูการค้า” ชายแดนไทย-ลาว ของ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 เป็นการติดตามผลการเยือน สปป. ลาว อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งครอบคลุมประเด็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งทางรางและทางบก การลดอุปสรรคเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อเฉลิมฉลองวาระ “ครบรอบ 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์)” ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีนี้

นอกจากการสำรวจพื้นที่สถานีรถไฟหนองคาย และสถานีรถไฟนาทา เพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนการเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับรถไฟลาว-จีนในอนาคต ทั้งระบบรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง รมช.กต. ยังได้รับฟังบรรยายสรุป พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เอกอัครราชทูตไทย (ออท.) ณ เวียงจันทน์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งสำนักงานศุลกากร สำนักงานการท่องเที่ยวฯ และตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย

เพื่อที่กระทรวงการต่างประเทศจะได้นำไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการปรึกษาหารือกับฝ่าย สปป. ลาว เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีความคืบหน้า “อย่างเป็นรูปธรรม” และช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ขับเคลื่อนเป้าหมายขยับเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาวจากปีละ 2.6 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 3.6 แสนล้านบาทภายในปี 2568  

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย (19 ก.พ.2567)

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการทูตเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน โดยในส่วนของจังหวัดชายแดน อย่างเช่นหนองคาย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ และเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน” รมช.กต. กล่าว พร้อมย้ำว่า หนองคายเป็นประตูการค้าสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะระหว่างไทยกับลาวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงจีนตอนใต้ด้วย จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับปริมาณการค้า การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวระหว่างกันที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยหนองคายจะไม่เป็นเพียงทางผ่าน แต่ประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

เนื้อหาข้อมูล-ความคิดเห็น ที่ได้จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะมีการนำเสนอยังนายกรัฐมนตรี และนำไปปรึกษาหารือกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ฯลฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายลาว เป็นลำดับต่อไป และต่อไปนี้เป็นโครงการต่างๆที่มีการนำเสนอเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1

 

เร่งรัดจัดตั้ง CCA สะพานมิตรภาพหนองคาย-เวียงจันทน์

การจัดทำพื้นที่ควบคุมร่วมกัน หรือ CCA (Common Control Area) ระหว่างไทย-ลาว มีเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการขนส่งข้ามแดนของสินค้าและประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการเสนอจัดทำ CCA ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เนื่องจากฝ่ายไทยมีความพร้อมทุกด้าน ในระหว่างที่การจัดตั้ง CCA ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) ที่อยู่ภายใต้ความตกลง GMS (อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง) ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากโครงการ CCA ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 นั้น ยังมีความไม่ลงตัวเกี่ยวกับสถานที่จัดตั้งที่ฝ่ายสปป.ลาวเสนอที่ตั้งลึกเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ห่างจากชายแดนนับสิบกิโลเมตร การจัดตั้ง CCA ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่1 ที่หนองคายจึงเป็นอีกทางเลือก ที่อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่า ทางออท. ณ เวียงจันทน์ ได้รับมอบหมายให้ไปหารือกับฝ่ายลาว เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในข้อเสนอนี้

รมช.กต.กล่าวว่า หนองคายเป็นประตูการค้าสำคัญไม่ใช่เฉพาะระหว่างไทยกับ สปป.ลาว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงจีนตอนใต้ จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับปริมาณการค้า การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวระหว่างกัน การจัดทำพื้นที่ CCA ร่วมกัน ไม่เพียงเพิ่มความสะดวกด้านศุลกากรและการขนส่งข้ามแดนของสินค้าและประชาชน แต่ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน

เดินหน้าผลักดันการเชื่อมโยง “ระบบราง” ไทย-ลาว-จีน

 

เดินหน้าผลักดันการเชื่อมโยง “ระบบราง” ไทย-ลาว-จีน

การติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับโครงการรถไฟลาว-จีนนั้น ที่ประชุมให้ความสำคัญกับโครงการต่างๆในระบบรางดังนี้ คือ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง การก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ คู่ขนานไปกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1(หนองคาย-เวียงจันทน์)ที่มีอยู่เดิม และการเสริมกำลัง (ซ่อมแซม-ปรับปรุง) สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1เพื่อให้รองรับการเดินรถไฟ U-20 (รถจักรที่มีน้ำหนักกดเพลามากถึง 20 ตัน/เพลา)

ในส่วนของ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งเป็นการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่สอง ระยะทาง 167 กม.จำนวน 15 สถานี พร้อมลานคอนเทนเนอร์ 3 แห่ง มูลค่ากว่า 29,000 ล้านบาทนั้น มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติดำเนินโครงการไว้แล้วเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมประกวดราคา คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน กำหนดแล้วเสร็จในเดือนส.ค.2570

ข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบัน มีบริการรถไฟโดยสารระหว่างหนองคาย-ท่านาแล้ง (ในฝั่งลาว) ที่ให้บริการมาตั้งแต่กลางปี 2551 ให้บริการจากหนองคายไปท่านาแล้งวันละ 2 เที่ยว และขากลับมาจากฝั่งลาววันละ 2 เที่ยวเช่นกัน ค่าโดยสารเพียงเที่ยวละ 20 บาท ต่อมาในเดือนส.ค. 2562 จึงเริ่มบริการรถรวมขนส่งสินค้า มีสะดุดชะงักไปบ้างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลับมาเปิดบริการอีกครั้งแล้วในเดือนเม.ย.2564 จนถึงปัจจุบัน  

  กต.ดันเศรษฐกิจไทย-ลาว \"ท่องเที่ยว-ค้าชายแดน\" 3.6 แสนล้าน  

ขณะที่ โครงการรถไฟความเร็วสูง นั้น มีขบวนรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเที่ยวปฐมฤกษ์จากสถานีต้นทางคุนหมิงของจีนถึงนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 โดยรถไฟทั้งสายใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยี อุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ของรถไฟจีน มีความยาวรวม 1,035 กม. ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. เดินทางจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ได้ภายใน 10 ชม. ส่วนรถไฟความเร็วสูงขบวนขนส่งสินค้าคุนหมิง-เวียงจันทน์เริ่มครั้งแรก 4 ธ.ค. 2564 ใช้เวลาขนส่ง 30 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งโดยรถบรรทุกซึ่งใช้เวลาราว 48 ชั่วโมง และช่วยลดต้นทุนการขนส่ง 40%

อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงจากจีนและลาวยังมาไม่ถึงไทย เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่2 ของไทย ช่วงเชื่อมต่อจากนครราชสีมา มายังจังหวัดหนองคาย ซึ่งมีระยะทางกว่า 357 กม. และจะมีสถานีรายทาง 5 สถานี รวมทั้งย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Container & Transshipment Yard) 1 แห่งที่สถานีนาทา จ.หนองคายนั้น  สถานะการดำเนินงานเพิ่งจะอยู่ในขั้นการออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างพิจารณาการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุมัติโครงการจากครม. คาดว่าหากเป็นไปตามแผน การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2574 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า

กต.ดันเศรษฐกิจไทย-ลาว \"ท่องเที่ยว-ค้าชายแดน\" 3.6 แสนล้าน

ปัจจุบัน การค้าสินค้าเกษตรมีการส่งออก-นําเข้าผ่านด่านศุลกากรหนองคายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผักสดจากประเทศจีน มีการนําเข้ามาอย่างต่อเนื่องผ่านรถไฟจีน-ลาว แต่ขนส่งผ่านรถบรรทุกเข้ามาประเทศไทย

ส่วน การเสริมกำลังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1(หนองคาย-เวียงจันทน์) เพื่อให้รองรับการเดินรถไฟ U-20 นั้น ข้อมูลจากแขวงทางหลวงหนองคายระบุว่า สะพานเดิมสามารถรองรับรถไฟ U15 ตามที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้ แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นเห็นสมควรเร่งรัดซ่อมแซมรอยแตกร้าว หากจะเดินรถไฟขนส่งสินค้า 20ตัน/เพลา (U20) จำเป็นต้องเสริมกำลังสะพานก่อนรองรับการใช้งาน กรมทางหลวงได้ทำการศึกษาและคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในการเสริมกำลัง งบประมาณในการดำเนินการ 48 ล้านบาท ทางลาวกำลังประสานขอความช่วยเหลือแบบให้เปล่าผ่านช่องทางการทูต การประกวดราคาและการเสริมกำลังสะพานจะเริ่มในเดือนเม.ย.2567 กำหนดแล้วเสร็จ มี.ค.2568  

ขณะที่ การก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ที่จะสร้างคู่ขนานไปกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1 ที่มีอยู่เดิมโดยจะห่างกันราว 30 เมตรนั้น ขณะนี้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นเสร็จแล้ว ออกแบบให้รองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจำนวน 4 tracks (เป็นทางรถไฟขนาด 1 เมตร 2 tracks และเป็นขนาดมาตรฐาน 2 tracks) พร้อมทั้งจะปรับปรุงสะพานเดิมให้เป็นสะพานสำหรับรถยนต์เพียงอย่างเดียว โดยมีแผนจะก่อสร้างในปี 2569-2571 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2572  

ในระยะที่สอง ยังจะมีการก่อสร้าง “สะพานรถยนต์” แห่งใหม่ทางด้านเหนือน้ำของสะพานเดิม จำนวน 2 ช่องจราจร รวมกับสะพานเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ในส่วนนี้ มีแผนจะก่อสร้างในปี 2584-2586 และจะเปิดบริการในปี 2587

วงเงินก่อสร้างระยะที่ 1 + ระยะที่ 2 รวม 3,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างสะพานใหม่ ค่าปรับปรุงถนนและสะพานเดิม (ไม่รวมการเสริมกำลังรับ U-20) ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน แบ่งเป็น

  • ระยะที่1 สะพานรถไฟ ก่อสร้างปี 2569 วงเงิน 2,083 ล้านบาท
  • ระยะที่2 สะพานรถยนต์ ก่อสร้างปี 2584 วงเงิน 1,034 ล้านบาท

 

“หนองคาย” ประตูการค้า-การท่องเที่ยวข้ามฝั่งโขง

 

ส่งเสริมการท่องเที่ยวสองฝั่งโขง-พร้อมรับทัวริสต์จีน

“หนองคาย” เป็นประตูการค้า-การท่องเที่ยวข้ามฝั่งโขง ช่วงเดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. 2566 จังหวัดหน้าด่านแห่งนี้มียอดนักท่องเที่ยวสะสมมากกว่า 3.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 48.45% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย (73.08%) เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 26.92%  ทางจังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเป็นรายได้จากชาวต่างชาติ1,928.72 ล้านบาท (ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา) แชมป์นักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับหนึ่งของจังหวัดหนองคาย คือ ลาว ตามมาด้วยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี อย่างไรก็ตามคาดว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยนับจากเดือนต.ค.2566 ถึง ม.ค. 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมายังหนองคายมีเพิ่มขึ้นทุกเดือน ตัวเลขล่าสุดเดือนม.ค.ที่ผ่านมา คือ 3,090 คน หรือเฉลี่ยวันละ 100 คน ขณะจำนวนที่พักรองรับนักท่องเที่ยวนั้น ยังถือว่าเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในอนาคต มีการนำเสนอจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวรวมทั้งตำรวจท่องเที่ยวที่หนองคายด้วย เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานีจะเป็นสาขาที่ดูแลครอบคลุมมาที่หนองคาย และมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวหนองคายเพียง 2 คน นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวทางลดอุปสรรคการท่องเที่ยว อาทิ

เสนอยกเลิกการกรอกใบ ตม.6 สำหรับการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางบก เช่นเดียวกับที่ได้ยกเว้นการกรอกใบ ตม.6 ชั่วคราวที่ด่านสะเดา (ไทย – มาเลเซีย) เพื่อลดความแออัดของนักท่องเที่ยว (รัฐบาลยกเลิกการกรอกใบ ตม.6 สำหรับคนไทยตั้งแต่ปี 2560 และยังได้ยกเว้นการกรอกใบ ตม.6 สำหรับคนต่างชาติที่เดินทางเข้า-ออกไทยทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2565 แต่ยังคงให้กรอกใบ ตม.6 สำหรับการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางบกและทางน้ำ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวและการป้องกันอาชญากรรม) หรืออย่างน้อยก็เสนอให้ชาวลาวสามารถกรอกใบตม.6 เป็นภาษาลาว

นอกจากนี้ ออท. ณ เวียงจันทน์ ยังนำเสนอความเป็นไปได้ในการผ่อนผันให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในนครหลวงเวียงจันทน์สามารถเดินทางเข้าไทยผ่านด่านพรมแดนทางบกได้มากกว่า 2 ครั้งต่อปี ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดให้บุคคลสัญชาติที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (ผ.30) สามารถเดินทางเข้าไทยโดยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง/ปีปฏิทิน เพื่อป้องกันปัญหา visa run (การเดินทางออกนอกประเทศเมื่ออยู่ครบจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตแล้วและกลับเข้ามาใหม่ เพื่อ reset เวลาที่ได้รับอนุญาตให้พำนักประเทศไทย) โดยท่านทูตเห็นว่า น่าจะสามารถผ่อนผันให้ผู้มีถิ่นพำนักถาวรใน สปป. ลาว โดยเฉพาะกลุ่ม expats ใน สปป. ลาว ซึ่งมีกำลังซื้อและจำเป็นต้องเดินทางเข้าไทยเพื่อจับจ่ายใช้สอยและรักษาพยาบาลในไทย ให้สามารถเดินทางเข้าไทยทางบกได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ซึ่งเรื่องนี้ หากตกลงกันได้ระหว่าง กต. และ ตม. ที่ด่าน ก็น่าจะสามารถดำเนินการได้เลย

ฉลองครบรอบ 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1

ในการเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พร้อมให้การสนับสนุน และเสนอหารือกับกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เกี่ยวกับการยกระดับการจัดงานเพื่อให้เป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยรายละเอียดกิจกรรมนั้น จะมีตั้งแต่การทําบุญตักบาตร สานสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ไปจนถึงกีฬาสานสัมพันธ์เดิน-วิ่ง กอล์ฟเชื่อมสัมพันธ์ ขบวนรถคานิวัลย้อนรอยครบรอบ 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 การแสดง แสง สี เสียง พลุไฟ / ม่านน้ำ นิทรรศการสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งที่โดดเด่นไปจนถึงกิจกรรมความบันเทิง MINI CONCERT จากนักร้อง นักแสดงสองฝั่งโขง ในเดือนเมษายน  

จากนั้นจะมีกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีในช่วงเดือนมิ.ย.2567  เป็นประชุมสัมมนา Business Forum ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการบรรยายพิเศษและเสวนาทางวิชาการของภาครัฐและภาคเอกชนของไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง – การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ของผู้ประกอบการและผู้ผลิตที่มีศักยภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดหนองคาย

ตลอดจนการออกบูธให้คําปรึกษาด้านการค้า การลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ และกิจกรรม “ฮักกันมั่นแก่น ค้าขายร่วมกันสานสัมพันธ์สองแผ่นดิน” (OTOP) จัดแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP โดยผู้ประกอบการกลุ่มสบายดี และผู้ประกอบการจากสปป.ลาว