คนไทยจ่ายเงินด้านกีฬา 7,054 บาท/ปี เช็คลิสต์ 10 อันดับที่จ่ายมากสุด

11 ก.พ. 2567 | 07:05 น.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาของประชาชนในปี 2566 พบคนไทย จ่ายเงินด้านกีฬา 7,054 บาท/ปี โดยกลุ่ม LGBTQ+ ใช้สูงสุด เช็คสถิติ 10 อันดับที่มีการจ่ายมากที่สุด

กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำรวจค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาของประชาชนในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจข้อมูลจากประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวนรวม 14,481 คน ในพื้นที่หลัก ๆ ทั่วประเทศ พบว่า ในภาพคนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาโดยเฉลี่ยเท่ากับ 7,054.68 บาทต่อปี โดยกลุ่ม LGBTQ+ ค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาโดยเฉลี่ยสูงที่สุดรองลงมาคือ เพศชาย และเพศหญิง ตามลำดับ ดังนี้

  • กลุ่ม LGBTQ+ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 7,801.45 บาทต่อปี
  • เพศชาย มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 7,100.83 บาทต่อปี
  • เพศหญิง มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 6,965.84 บาทต่อปี

 

สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประชาชน 10 อันดับแรก มีดังนี้

  1. ค่ารองเท้ากีฬา 2,092.83 บาท
  2. ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่เกิดขึ้นในระหว่างชมกีฬา แข่งขันกีฬา เล่นกีฬา 1,299.24 บาท
  3. ค่าเสื้อและกางเกงกีฬา/ชุดกีฬา 947.64 บาท
  4. ค่าอุปกรณ์กีฬา 815.41 บาท
  5. ค่าตัว บัตรเข้าชม ค่าสมัครเข้าร่วมแข่งขัน 390.65 บาท
  6. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปชมกีฬา แข่งขันกีฬา เช่น ค่าพาหนะ ค่าน้ำมัน 349.78 บาท
  7. ค่ายานพาหนะที่ใช้ในการแข่งขันกีฬา ชมกีฬา เล่นกีฬา 246.56 บาท
  8. ค่าอาหารเสริมสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา 219.79 บาท
  9. ค่าเช่าสนามกีฬา ไม่รวมอุปกรณ์กีฬา 171.96 บาท
  10. ค่าโรงแรม ค่าที่พัก 137.56 บาท

ทั้งนี้ กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการสำรวจพฤติกรรมและค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาของประชาชนทั่วไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ค่าเสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬา เป็นค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาส่วนใหญ่ของประชาชน โดยคิดเป็นกว่า 47% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในปี 2565 ก่อนจะเพิ่มเป็น 55% ในปี 2566 ดังนั้น ควรเร่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทยให้สามารถแข่งขันได้เพื่อให้มูลค่าผลผลิตในอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยต้องมีนโยบายส่งเสริม ทั้งด้านการผลิตและการบริโภค ประกอบด้วย

1.ด้านการผลิตควรมีการสร้างคลัสเตอร์ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทย เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบการ โดยที่สำคัญคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาดเชิงรุก

นอกจากนี้ ยังต้องมีการรับรอง (Certified) ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทย โดยหน่วยงานภาครัฐเพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานควบคู่ไปกับการจัดทำฐานข้อมูล Black List ทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคด้านการบริโภค

2.ควรมีมาตรฐานผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬา แบรนด์ไทย ซึ่งผลิตโดยผู้ประกอบการที่ได้รับการ Certified ที่อยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน โดยอาจเริ่มต้นจากการผลักดันและขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับที่มีการเรียนวิชาพลศึกษาให้มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา และอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ไทยในการจัดการเรียนการสอน การจัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เป็นต้น

3.ค่าอาหารและเครื่องดื่มิเป็นอีกหนึ่งหมวดค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาที่สำคัญของประชาชนทั่วไป คิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของค่าใช้จ่ายด้านการกีฬาทั้งหมด โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนไปเล่นกีฬา ออกกำลังกาย แข่งขันกีฬา หรือไปชมการแข่งขันกีฬา

ขณะที่ค่าโรงแรมที่พัก เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญที่จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนไปแข่งขันกีฬาหรือไปชมกีฬานอกพื้นที่อยู่อาศัย จึงถือได้ว่าธุรกิจบริการอาหารและโรงแรมที่พักถือเป็น Ecosystem สำคัญของอุตสาหกรรมกีฬา

ดังนั้น ควรมีนโยบายในการสำรวจความพร้อมของธุรกิจบริการอาหารและโรงแรมในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการจัดกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้กิจกรรมกีฬายกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.ค่าใช้จ่ายของที่ระลึกกิจกรรมกีฬายังมีมูลค่าต่ำกว่า โดยสัดส่วนไม่ถึง 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นช่องว่างของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าของที่ระลึกที่เกี่ยวกับกิจกรรมกีฬา โดยเฉพาะในธุรกิจกีฬาอาชีพของประเทศไทยเกี่ยวกับกีฬามากนัก รวมทั้ง Engagement ซึ่งอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ของผู้บริโภคที่มีต่อทีมกีฬาอาชีพที่ยังไม่มากพอที่จะทำให้ตัดสินใจ ซื้อของที่ระลึกต่าง ๆ

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องมีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของที่ระลึกเกี่ยวกับกีฬาให้แก่ผู้ประกอบการ อาจเริ่มต้นจากสโมสรกีฬาอาชีพและผู้จัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การทำการตลาดดิจิทัลอย่างเหมาะสม การสร้าง Online Content เพื่อสร้าง Engagement กับแฟนกีฬาและผู้บริโภค ให้มากขึ้น

5.จากการเปรียบเทียบค่าตั๋ว/บัตรเข้าชม/ค่าสมัครเข้าร่วมแข่งขัน ระหว่างค่าใช้จ่ายจริง และค่าใช้จ่ายที่ยินดีจ่ายสูงสุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายจริงสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ยินดีจ่ายสูงสุด ในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือได้ว่า มีส่วนเกินผู้บริโภคติดลบ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นคุณค่าการจ่ายเงินเพื่อเข้าไปชมการแข่งขันกีฬาค่อนข้างน้อย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศ

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องมีนโยบายที่เหมาะสมในการดึงดูดให้ประชาชนสนใจเข้ามาชมการแข่งขันกีฬาให้มากขึ้น ในกรณีของกีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศ มีการกำกับดูแลและส่งเสริมให้การแข่งขันเป็นไปอย่างมีคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมให้สโมสรกีฬาอาชีพทำความร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อโปรโมทและสร้าง Engagement กับพื้นที่

รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนสโมสรกีฬาอาชีพให้ทำการตลาดผ่านการทำ Storytelling ให้มากขึ้น ในกรณีของกีฬาเพื่อความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อมวลชน ควรมีการวิเคราะห์พื้นที่ เพื่อให้สามารถเลือกจัดการแข่งขันกีฬาได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และช่วงเวลา รวมทั้งทำการประชาสัมพันธ์และการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านช่องทางที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายด้วย