“ปานปรีย์” ลงพื้นที่ จ.ตาก เดินหน้าตั้งจุดมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา

10 ก.พ. 2567 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 06:37 น.

รองนายกฯ "ปานปรีย์" ตรวจเยี่ยมพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เดินหน้าตั้งจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา "Humanitarian Assistance Corridor" พร้อมพบปะผู้ค้ารายย่อยตลาดริมเมย-สมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา รับฟังปัญหาและร่วมแสวงหาแนวทางส่งเสริมการค้าชายแดน

 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเยือนพื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ.2567 โดยเข้ารับฟังการบรรยายสรุปและร่วมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ เกี่ยวกับ สถานการณ์ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสาธารณสุข บริเวณ ชายแดนไทย-เมียนมา ที่ด่านศุลกากรแม่สอด บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่สำหรับพิธีส่งมอบ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แก่ประชาชนเมียนมา ระหว่างสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา โดยข้อริเริ่มของไทยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอาเซียนในการผลักดันการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ นอกจากนี้ ยังได้สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายภายใน 1 เดือน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เดินหน้าเปิดจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา จากข้อริเริ่มของไทยในการจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” (humanitarian corridor) ยกระดับการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่อาเซียนเห็นพ้องและตอบรับในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งข้อริเริ่มของไทยดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 5 ข้อของฉันทามติอาเซียน และเมียนมาเองก็พร้อมให้การสนับสนุน

​ศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้ จะเป็นพื้นที่เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง หรือยารักษาโรค ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา โดยมีพื้นที่ที่ตั้งเป็นศูนย์รับการช่วยเหลือในรัฐกระเหรี่ยงของเมียนมา ที่จะถือเป็นจุดแรกที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไป โดยมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ  (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management : AHA Centre) สภากาชาดไทย และสภากาชาดเมียนมา หรือหน่วยงานกลาง เข้าร่วมสังเกตการณ์ ขณะที่ในฝั่งไทยจะเริ่มต้นจากด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 อ. แม่สอด จ.ตาก ผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ไปยังพื้นที่ที่มีผู้ผลัดถิ่น

ไทยริเริ่มการจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” (humanitarian corridor) เพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาตามแนวชายแดน

ที่ผ่านมา ไทยได้มีการประสานงานกับรัฐบาลเมียนมา และได้รับการตอบรับด้วยดี โดยคาดว่าเมื่อทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะทำให้เกิดการพูดคุย และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา จนนำไปสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพได้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนบรรลุข้อตกลงร่วมกัน และเป็นไปตามที่ไทยได้เสนอ แนวทาง D4D เอาไว้ คือ

  1. De-escalating Violence (การยุติความรุนแรง)
  2. Delivering Humanitarian Assistance (การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม)
  3. Discharge of Detainees (การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง)
  4. และ Dialogue (การหารือ)

นำคณะตรวจเยี่ยมพื้นที่ตลาดริมเมย

 

ลงพื้นที่ตลาดริมเมย พบผู้ค้าแนวชายแดน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายปานปรีย์ นำคณะ พร้อมด้วยนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รวมทั้งนายกเทศมนตรีตำบลท่าสายลวด ตรวจเยี่ยมพื้นที่ตลาดริมเมย ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการรายย่อย และสิ่งที่บรรดาผู้ค้าต้องการรับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา นอกจากนี้ ยังได้ร่วมพูดคุยกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการค้าชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ค้าตลาดริมเมย ได้สะท้อนปัญหายอดขายซบเซา ขณะที่นักท่องเที่ยวบางตาลง และได้เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาทำให้ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ตลาดริมเมย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย

“ปานปรีย์” ลงพื้นที่ จ.ตาก เดินหน้าตั้งจุดมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมาโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความสงบสุข สามารถทำมาค้าขายได้ ซึ่งหากสถานการณ์ในเมียนมาสงบ ก็เชื่อว่า การค้าการขายในตลาดริมเมย จะกลับมาคึกคักเช่นเดิม

“ปานปรีย์” ลงพื้นที่ จ.ตาก เดินหน้าตั้งจุดมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา

หลังจากนั้น ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM) เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อแนวทางการส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะการค้าชายแดน โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ชื่นชมบทบาทของ TBAM ในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของไทยในเมียนมา และยังได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของกระทรวงการต่างประเทศ ในการให้การสนับสนุนนักลงทุนไทยในเมียนมาอย่างเต็มที่