KEY
POINTS
ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเรื่องของเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างการเข้ามาของ AI และ ChatGPT ที่สนั่นไปทุกวงการ ในแวดวงของธุรกิจอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าการเติบโตของเทคโนโลยีก็เขย่าวงการได้อย่างมาก
นายอเล็กซ์ มา รองประธานบริษัท บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศไทย ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก กล้องถ่ายรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และกลุ่มทีวี ในปี 2566 ว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 260,358 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 และถ้ามองในมุมจำนวนสินค้า จะอยู่ที่ประมาณ 44,886 ล้านเครื่องต่อปี ลดลงประมาณ 6% แต่ถ้ามองเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของตลาดรวม จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 75,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 10% ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม อาทิ สภาพอากาศที่ร้อนจัดในหน้าร้อนปีที่ผ่านมา
“โตชิบา ไทยแลนด์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยในปี 2566 ผลประกอบการรวมเติบโตกว่า 14% โดยกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้สูงสุด ได้แก่ สินค้ากลุ่ม ตู้เย็น มีอัตราการเติบโต 4.3% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มเครื่องซักผ้า เติบโต 16.1% ในขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น เช่น กลุ่ม เตาอบไมโครเวฟ เติบโต 37.5% กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เติบโต 18.1% กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับน้ำ เติบโต 14.8% และกลุ่มเครื่องปรับอากาศ เติบโตสูงถึง 127.6% และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) เราสามารถรักษาการเติบโตเฉลี่ย 4 ปี ได้ถึง 11.1%”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “โตชิบา” เมินบริษัทแม่ถอนตัวตลาดหุ้นญี่ปุ่น เดินหน้าจัดใหญ่ฉลอง 55 ปีในไทย https://www.thansettakij.com/business/marketing/584042
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2567 นี้ โตชิบา ไทยแลนด์กำลังก้าวเข้าสู่ปีแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาครบ 55 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทให้ความสำคัญเป็นที่สุดกับเรื่องการจัดหาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม โดยมีสินค้าในเครือที่เป็นระบบ IOT มากกว่า 30% พร้อมชี้ความน่าสนใจของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยคือเรื่องของคนรุ่นใหม่ชอบเข้าครัว มีห้องครัวเสมือนห้องรับรองแขก ทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กเติบโตต่อเนื่อง
กางแผน ‘โตชิบา’ รุกตลาดคนรุ่นใหม่
สำหรับปี 2567 นี้ ซึ่งเป็นปีที่โตชิบา ไทยแลนด์ ดำเนินธุรกิจครบรอบ 55 ปี ตั้งเป้าเติบโตกว่า 20% ถือเป็นเป้าหมายที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยปัจจัยที่สามารถทำให้เป้าหมายสำเร็จได้นั่นคือ การรุกเข้าหากลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และการตลาดที่ทุ่มงบกว่า 3 เท่าจากเดิม เป็นงบที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี
กลุ่มผู้บริโภคคนไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน โตชิบา จัดทำแบบสำรวจกลุ่มผู้บริโภคหลักของแบรนด์แบ่งเป็น กลุ่มหลักคือ แบ่งเป็น GenX 23.6% รองลงมา GenY 21.9% และ GenZ 19.4% โดยปีนี้โตชิบาตั้งโจทย์ขยายฐานลูกค้าไปยัง GenY – GenZ มากขึ้นผ่านวางแผนเพิ่มการรับรู้และการสร้างแบรนด์ ทุ่มงบมากกว่า 3 เท่าเทียบกับปีก่อน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
โดยสินค้าที่เป็นเรือธงของปี 67 คือ กลุ่มตู้เย็น ตั้งเป้าขยายฐานรุกครัวเรือนคนรุ่นใหม่ ให้มีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 15% ในขณะที่กลุ่มเครื่องซักผ้ารักษาตำแหน่งอันดับ 3 แต่เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 10% กลุ่มเตาอบไมโครเวฟ ชิงตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 29%
สำหรับกลยุทธ์ปีนี้ มีแผนการเปิดตัวสินค้าใหม่มากถึง 52 รุ่น โดยเน้นสินค้ากลุ่ม Mid to High เพื่อรองรับดีมานด์ที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเน้นขยายจุดวางสินค้ากลุ่มไฮเอนด์มากขึ้น รวมไปถึงการสร้าง Experience Store ที่เน้นการโชว์สินค้ากลุ่ม Smart Solution ซึ่งเป็นเทรนด์ของคนยุคใหม่ที่รักความสะดวกสบาย ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านมือถือ
สำหรับในส่วนการตลาด ทุ่มงบเพิ่มขึ้นมาก เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้สมาร์ทยิ่งขึ้น โดยเปิดตัวพรีเซนเตอร์ที่จะมาเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังมีแผนการตลาดอีกมากมายที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการขาย การสื่อสารการตลาด และกิจกรรมเพื่อสังคม และในส่วนของพนักงานขายหน้าร้าน เรามีแผนเพิ่มจำนวนและพัฒนาคุณภาพพนักงานเพื่อให้พร้อมสำหรับดีมานด์ที่เติบโตขึ้น และส่วนสุดท้ายที่โตชิบาให้ความสำคัญ คืองานบริการ เพราะเราให้ความสำคัญกับลูกค้า โดยมีแผนเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับให้บริการสินค้ากลุ่ม Hi-end รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยเพิ่มทีมการให้บริการที่บ้าน (Onsite service) เพิ่มขึ้น