“สุริยะ” ปลุก M-MAP 2 ดัน “ต่อขยายสายสีเขียว” บางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้าน

02 ก.พ. 2567 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 14:06 น.
1.3 k

“สุริยะ” ดันแผน M-MAP 2 เตรียมนำร่องรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้านบาท หลังพบเส้นทางมีชุมชนหนาแน่น มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์ เล็งเชื่อมส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง แนะกทม.หารือร่วม ก่อนชงคจร.ไฟเขียว

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” ดันแผน M-MAP 2  นำร่องรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้าน
  •  เล็งเชื่อมส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง แนะกทม.หารือร่วม ก่อนชงคจร.ไฟเขียว

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดแผน M-MAP 1 ซึ่งเป็นแผนโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่จะช่วยให้ประชาชนเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ขณะนี้ยังมีแผนเดินหน้า M-MAP 2 ที่จะเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นทาง 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 ปัจจุบันกระทรวงมีแผนเร่งรัดโครงการฯนี้ เบื้องต้นจากการสัมมนาของกระทรวงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำร่องในเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ก่อน เพราะเป็นเส้นทางที่มีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

 

นายชยธรรม์  พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีสถานีปลายทางอยู่ที่บางหว้า ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีต้นทางไปถึงถนนราชพฤกษ์ เนื่องจากพบว่าเป็นเส้นทางที่มีหมู่บ้านเป็นจำนวนมากตลอดทั้งเส้นทาง ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มดำเนินการ โดยในระยะถัดไปกระทรวงยังมีแผนเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายดังกล่าวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นเส้นทางที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำโครงการฯนี้เข้าไปอยู่ในแผน M-MAP 2 ด้วยเช่นกัน 
 

“ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ไปดำเนินการเองถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะตรงกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม อีกทั้งโครงการฯเป็นส่วนหนึ่งของแผน M-MAP 2 ขณะนี้พบว่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวมีกทม.เป็นผู้รับผิดชอบ หากจะนำรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ขึ้นมาดำเนินการต้องเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขออนุมัติ ซึ่งกทม.จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงในโครงการฯนี้ด้วย” 

 

ทั้งนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน มีแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้าจากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ ผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) แยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4

 

นายชยธรรม์  กล่าวต่อว่า ในกรณีที่กทม.มีแผนจะโอนกลับคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ ในโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร (กม.) นั้น ปัจจุบันกทม.ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ 

ที่ผ่านมาโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 โดยดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งจากการทบทวนแผน M-MAP 1 และแผน M-MAP 2 Blueprint 

“สุริยะ” ปลุก M-MAP 2 ดัน “ต่อขยายสายสีเขียว” บางหว้า-ตลิ่งชัน 1.4 หมื่นล้าน

นอกจากนี้แผน M-MAP 2 ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เคยศึกษาไว้ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและที่ปรึกษาได้นำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา ทำให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) โดยนำมาคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนาต่อไป

 

สำหรับแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) ของแผน M-MAP 2 พบว่ามี เส้นทางใหม่ จำนวน 13 เส้นทาง (N) ประกอบด้วย N1 รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ ,N2 รถไฟฟ้าสายบางบำหรุ- ดินแดง – หลักสี่ ,N3 รถไฟฟ้าสายรังสิต – ธัญบุรี - คลอง6 – ธรรมศาสตร์ ,N4 รถไฟฟ้าสายรังสิต – ปทุมธานี ,N5 รถไฟฟ้าสายคลอง 3 – คูคต ,N6 รถไฟฟ้าสายสุวรรณภูมิ -แพรกษา-สุขุมวิท ,N7 รถไฟฟ้าสายดอนเมือง – ศรีสมาน ,N8 รถไฟฟ้าสายพระโขนง – ศรีนครินทร์ ,N9 รถไฟฟ้าสายเทพารักษ์ – ราษฎร์บูรณะ ,N10 รถไฟฟ้าสายศาลายา – มหาชัย  ,N11 รถไฟฟ้าสายเลียบคลองประปา (บางซื่อ – ปทุมธานี)  ,N12 รถไฟฟ้าสายศรีนครินทร์ – บางบ่อ และ N13 รถไฟฟ้าสายคลอง 6 – องค์รักษ์

 

อย่างไรก็ตามยังมีแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมดในเส้นทางส่วนต่อขยาย จำนวน 8 เส้นทาง (E) ประกอบด้วย E1 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (สีลม) บางหว้า –รัตนาธิเบศร์-แยกปากเกร็ด,E2 รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย มีนบุรี – ลาดกระบัง ,E3 รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เมืองทอง – ปทุมธานี ,E4 รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย บางใหญ่ – บางบัวทอง ,E5 รถไฟฟ้าสีทองส่วนต่อขยาย (คลองสาน-ศิริราช) ,E6 รถไฟฟ้าสายสีเงินส่วนต่อขยายสุวรรณภูมิ- บางบ่อ ,E7 รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง บางซื่อ - พระราม3 และ E8 รถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ลาดพร้าว – รัชโยธิน - บางอ้อ - ท่าน้ำนนท์