กรมการค้าต่างประเทศ งัด พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาด แก้ปลากะพงมาเลเซียทะลัก

02 ก.พ. 2567 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 14:48 น.
1.0 k

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เล็ง งัด พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาด แก้ปัญหาปลากะพงมาเลเซียทะลัก ตีตลาดปลากระพงไทยราคาตกต่ำ "ฐิติมา" ชง เก็บค่าธรรมเนียม ดัดหลังผู้นำเข้า เกษตรกร ฮึ่ม ก่อม็อบ เทปลาทิ้งหน้าทำเนียบรัฐบาล-กระทรวงพาณิชย์

วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2567 นางฐิติมา ฉายแสง กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้ซักถามกรมการค้าต่างประเทศถึงกรณีปัญหาการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงไทยราคาตกต่ำ ว่า ราคาต่ำกว่าปลากะพงไทย 20 บาทในทุก ๆ ขนาด จะใช้มาตรการภาษีเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ได้หรือไม่ หรือ สามารถจำกัด ชะลอการนำเข้าได้หรือไม่ หรือเก็บภาษี แม้กระทั่งห้ามนำเข้าได้หรือไม่  

นางฐิติมาซักถามต่อไปว่า ขณะเดียวกันอีกหนึ่งแนวทางคือการใช้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) กองทุนสงเคราะห์เกษตร พ.ศ.2554 มาตรา 9 เก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย 20 บาทต่อกิโลกรัมได้หรือไม่ 

“พี่น้องเกษตรกรตอนนี้เตรียมตัวจะก่อม็อบแล้ว จะเอาปลามาเททิ้งแล้ว หน้ากระทรวงพาณิชย์ หน้าทำเนียบรัฐบาล”นางฐิติมากล่าว 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ตอบคำถามว่า ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศเกี่ยวข้อง คือ จะใช้มาตราการบล็อกการนำเข้าได้หรือไม่ หรือจะใช้มาตรการอะไรที่จะมาดูแลเรื่องการนำเข้าปลากะพงมาเลเซียที่ส่งกระทบต่อเกษตรเลี้ยงปลากะพงภายในประเทศ

นายรณรงค์กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศสามารถใช้มาตรการตอบโต้และการอุดหนุนการทุ่มตลาดในการนำเข้าปลากะพงได้หรือไม่ ต้องพิจารณาเรื่องราคา ส่วนในเรื่องของรัฐใช้มาตรการอุดหนุน แต่ละรัฐบาลจะมีมาตรการหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากองค์การการค้าโลก (WTO) ถ้าเราจะไต่สวนการอุดหนุนของประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องไปดูมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น ความสัมพันธ์และความตกลงระหว่างประเทศ และมาตรการของไทยเอง

“กรมการค้าต่างประเทศจะรับไปพิจารณาในเรื่องของการตอบโต้การทุ่มตลาด ขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่าการส่งออกปลากะพงจากประเทศมาเลเซียมาไทยราคาต่ำจริงหรือไม่ ตั้งใจทุ่มจริงหรือไม่ ถ้าต่ำจริงก็ต้องไปดูว่า ทุ่มมาเพื่อทำลายอุตสาหกรรมผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงอย่างไร โดยจะไปหารือกับผู้ได้รับผลกระทบที่กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ กองตอบโต้การทุ่มตลาด ที่ชั้น 15 ตามพ.ร.บ.การทุ่มตลาด”

นายรณรงค์กล่าวว่า พ.ร.บ.ประมง อธิบดีกรมประมงมีอนุญาตนำเข้าสินค้าประมงมาในประเทศ ส่วนอำนาจของกรมการค้าต่างประเทศจะมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน เบื้องต้นต้องสืบหาข้อมูลก่อนว่า ราคาปลากะพงที่ส่งมาในประเทศไทยมีราคาที่ถูกกว่าราคาปลากะพงที่ขายในประเทศหรือไม่ เท่าที่มีข้อมูลเบื้องต้น ขนาดและประเภทของปลากะพงคนละขนาด จึงต้องวัดขนาดที่เท่ากัน 

“การจะใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต้องมีผู้ร้องขอ ทางกรมการค้าต่างประเทศพร้อมทำงานร่วมกันกับสมาคมหรือกลุ่มใดก็แล้วแต่ที่เป็นนนิติบุคคล เนื่องจาก พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดฯต้องมีผู้ร้องเรียน ร้องขอให้ไต่สวนการทุ่มตลาด หากได้ข้อมูลเพียงพอ ครบองค์ประกอบ ทางกรมการค้าต่างประเทศก็จะสามารถดำเนินการได้ โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบยื่นคำร้องมาที่กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อพิจารณาว่าจะเปิดการไต่สวนหรือไม่”นายรณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้จะให้เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศประสานไปยังสมาคม (สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงไทย) เพื่อพิจารณาข้อมูลว่าเพียงพอต่อการเปิดการไต่สวนหรือไม่   

“กรมการค้าต่างประเทศมีกฎหมายฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาด ต้องมีการทุ่มตลาด ถ้าทุ่มตลาดเมื่อไหร่เราจะเริ่มการพิจารณาการไต่สวนได้ทันที โดยจะให้เจ้าหน้าที่รวบรวมตัวเลขสถิติการนำเข้าและราคาเป็นอย่างไร” นายรณรงค์กล่าว