นายกฯจ่อเปิดงาน “นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

28 ม.ค. 2567 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2567 | 14:54 น.

"เศรษฐา"เตรียมเป็นประธานงาน “นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี เทิดพระเกียรติในหลวง 72 พรรษา ระหว่างวันที่ 9 – 18 ก.พ.นี้

เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสถาปนาเมืองลพบุรี เป็นราชธานีแห่งที่ 2 และทรงให้วิศวกรชาวฝรั่งเศส ออกแบบการสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์   ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมตะวันตก    และทรงโปรดประทับ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์    เกือบตลอดปี เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น จึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา   ดังนั้นเมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางความเจริญตลอดรัชสมัยของพระองค์ 

“นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”   งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

ด้วยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช”  ในปี พ.ศ.2522 สมัยที่ นายเชาว์นวัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี จึงได้เริ่มจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นเป็นครั้งแรก  และเป็นงานที่มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดของภาคประชาชน คือ ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี  ที่ต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความรัก หวงแหนโบราณสถานและร่วมกันอนุรักษ์ให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป

เนื่องจากจังหวัดลพบุรีมีโบราณสถานมากมาย หลายยุคหลายสมัย เป็นหลักฐานยืนยันว่าลพบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญ  มายาวนานทุกยุค ทุกสมัย  โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรีมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการเมืองการปกครอง สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการต่างประเทศ    

“นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”   งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี

จากการริเริ่มจัดงานในครั้งนั้นได้สร้างความตื่นตาตื่นใจกันทั้งจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะการรณรงค์  ให้ชาวลพบุรีแต่งชุดไทย มีการประกวดแต่งชุดไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ทำให้การแต่ง         ชุดไทยในงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของงานมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2567 จังหวัดลพบุรีโดยทุกภาคส่วนได้ร่วมใจกันจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นการจัดงานฯ ครั้งที่ 36 ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์และโบราณสถานใกล้เคียง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บ้านหลวงรับราชทูต(บ้านวิชาเยนทร์) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  วัดปืน  สวนราชานุสรณ์  บันได 51 ขั้น

วัดกวิศรารามราชวรวิหาร  วัดเชิงท่า และวัดเสาธงทองพระอารามหลวง ระหว่าง วันที่ 9 – 18 กุมภาพันธ์ 2567  มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น  ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์  และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรี และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา   

“นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”   งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้กล่าวถึงการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ประจำปี 2567  ว่า ได้กำหนดกิจกรรมที่หลากหลายและเป็นที่น่าสนใจ  โดยเน้นรูปแบบ“นุ่งโจง ห่มสไบ  แต่งไทย ทั้งเมือง"  มีกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย  เช่นกิจกรรมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวลพบุรีพร้อมใจแต่งไทยทั้งเมือง (เคาะประตู)  พิธีเทิดพระเกียรติและเดินรณรงค์แต่งไทย    กิจกรรมขบวนแห่ประวัติศาสตร์ ในวันเปิดงาน วันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานฯ  รวมทั้งการจัดพิธีบวงสรวงและรำบวงสรวงถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในวันที่16 กุมภาพันธ์  2567 ณ บริเวณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (วงเวียนเทพสตรี )

 

 

นายอำพลกล่าวต่อไปว่า  สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ประกอบด้วย การแสดงแสงเสียง  การแสดงโขน  การแสดงประวัติศาสตร์จินตนาการ  ณ สถานที่จริงตามประวัติศาสตร์ คือตึกรับรองราชฑูต ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์  ซึ่งเปิดให้ ชมฟรี วันละ 1 รอบ เวลา 20.00 น.      

“นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”   งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี

การแสดงเวทีกลาง   การแสดงหมากรุกคน  การแสดงละครลิง และตลาดย้อนยุค ตลาดซาโม่น (กลุ่มชาติพันธุ์มอญ) รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่มารวมกิจกรรม  นอกจากนี้บริเวณสวนราชานุสรณ์ และเทวสถานปรางค์แขก มีการประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ  ประดับไฟฟ้า และการบรรเลงดนตรีขับกล่อมผู้มาเที่ยวชมงานเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา 

สำหรับการสร้างสีสัน และดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้มาสัมผัสกับดินแดนแห่งประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือการเปิดบ้านหลวงรับราชฑูต  หรือบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวต่างชาติที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปราน  โดยจะจัดกิจกรรมรูปแบบ ไทย-เทศ   มีการจำลองบรรยากาศแบบฝรั่งเศส การสาธิตการทำขนมไทยตำรับท้าวทองกีบม้าเป็นต้น 

“นุ่งโจง ห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง ”   งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซอฟต์พาวเวอร์ลพบุรี

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี  มีการจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  โดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา

เนื้อหาของภาพวาดเป็นการบันทึกภาพแห่งความทรงจำที่พระองค์ท่านได้เสด็จมายังจังหวัดลพบุรี  เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวให้ประชาชนทั่วไปตลอดจนชาวต่างชาติได้ชื่นชมพระเกียรติคุณ  นอกจากนี้  ยังเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อสังคมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้           และมีการจัดนิทรรศการวาดภาพเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช      เป็นภาพวาดเนื้อหาบางส่วนของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ประทับว่าราชการ  เป็นระยะเวลายาวนานจนกระทั่งเสด็จสวรรคต 
  นายกฯจ่อเปิดงาน “นุ่งโจง ห่มสไบ  แต่งไทย ทั้งเมือง ”แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

ด้านนางกฤษณา สิทธิราช วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี  เผยว่า การจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปี ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 10 วัน มีผู้มาชมงานกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดลพบุรีได้กว่า 330 ล้านบาท จากการจัดงานที่ผ่านทำให้งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็น 1 ใน 10 เทศกาลงานประเพณีที่คนทั่วโลกยอมรับ และยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการแต่งกายไทย ทำให้กระจายไปทั่วประเทศและทั่วโลก และจังหวัดลพบุรีถือเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายชุดไทย   โจงกระเบน และผ้าทอพื้นบ้านเมือง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดลพบุรี  เป็นจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่ชาวจังหวัดลพบุรีมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 

นายกฯจ่อเปิดงาน “นุ่งโจง ห่มสไบ  แต่งไทย ทั้งเมือง ”แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

กว่า 45 ปีที่งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้านประวัติศาสตร์              เด็ก เยาวชน ประชาชนในจังหวัดลพบุรี เห็นคุณค่าของโบราณสถานเกิดความภาคภูมิใจ รักและหวงแหนในวัฒนธรรมประจำถิ่น ปลุกจิตสำนึกรักชาติและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสามารถยกระดับเทศกาลประเพณีสร้างกระแส Soft Power ในด้านการ   แต่งกายไทยของผู้มาร่วมงาน  จนมีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี

เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว  กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปินเครือข่าย    ทางวัฒนธรรม และผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน               การบูรณาการจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับ  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของเมืองลพบุรีหรือละโว้ธานีดินแดนแห่งอารยะธรรม