ส่งออกไทยระสํ่า ! พิษ “ทะเลแดง” ฉุดเป้า 10 ล้านล้านสะเทือน

26 ม.ค. 2567 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2567 | 22:56 น.

ส่งออกไทยสำลักวิกฤตทะเลแดง สายเดินเรือโขกค่าระวางเรือพ่วงเซอร์ชาร์จ ดันรายจ่ายพุ่งกว่า 400% สะเทือนเป้าส่งออก 10 ล้านล้าน จับตาหลังตรุษจีน จีนกลับมาเปิดโรงงาน ดันราคาน้ำมันโลกขยับ เงินเฟ้อพุ่งรอบใหม่ จี้รัฐ-เอกชนรับมือ เร่งหาตลาดใหม่ชดเชยยุโรป-ตะวันออกกลาง

KEY

POINTS

  • ส่งออกไทยเริ่มต้นปีมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดี จากวิกฤตในทะเลแดง ส่งผลผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าระวางเรือไปยุโรปเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัวจากปลายปีที่ผ่านมา
  • จับตาราคาน้ำมันโลกอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจีนกลับมาเปิดโรงงานผลิตหลังเทศกาลตรุษจีน ดันต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
  • ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น และเงินเฟ้อของโลก อาจจะกลับมาอีกครั้ง

กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกปี 2567 จะขยายตัวที่ 1.99% หรือมีมูลค่า 10 ล้านล้านบาท เริ่มต้นมาเดือนแรกของปีนี้มีสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก หลังกลุ่มติดอาวุธฮูตีโจมเรือบรรทุกสินค้าที่วิ่งผ่านทะเลแดงมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อกดดันอิสราเอลเลิกทำสงครามในดินแดนปาเลสไตน์ ส่งผลให้สายเดินเรือมีความเสี่ยง และลดการเรือผ่านทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนสินค้าจากเอเชียไปยุโรป และหันไปวิ่งอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้มากกว่า 50% ของจำนวนเรือ

ทั้งนี้กลุ่มฮูตียังขู่ที่จะยังปฏิบัติการต่อเนื่อง แม้จะมีเรือรบของสหรัฐ และจากชาติยุโรปคอยคุ้มกันเรือบรรทุกสินค้าก็ตาม ส่งให้ ณ เวลานี้ค่าระวางเรือเส้นทางเอเชีย-ยุโรปปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3-4 เท่าตัว ทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าของไทย ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก

ส่งออกไทยระสํ่า ! พิษ “ทะเลแดง” ฉุดเป้า 10 ล้านล้านสะเทือน

  • ค่าเรือพุ่ง 4-5 เท่าตัว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ใน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่กลุ่มฮูตียังขู่จะยังโจมตีเรือสินค้าต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าระวางเรือเส้นทางจากเอเชียไปยุโรป แอฟริกาเหนือ และแถบเมดิเตอ์เรเนียน พุ่งขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4-5 เท่า รวมถึงไปที่ซาอุดีอาระเบียของภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ส่งออกของไทยไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เพราะเป็นคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ล่วงหน้า 1-2 เดือน

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

“ปลายปีที่แล้วค่าระวางเรือของบริษัทผมไปยุโรป สำหรับตู้สั้น 20 ฟุตตัวเลขกลม ๆ อยู่ที่ 1,000 เหรียญต่อตู้ ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 4,000 เหรียญต่อตู้ หากเป็นตู้ขนาด 40 ฟุต ราคาก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว นี่คือราคาที่ประกาศ แต่สายเดินเรือจะมีราคาที่เรียกว่าราคา spot คือไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ ไม่มีสัญญา และข้อตกลงราคาก็จะเพิ่มมากกว่านี้ เพราะเวลานี้ยังต้องไปแย่งจองพื้นที่เรือ (booking space) กับประเทศจีนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เขาต้องเร่งส่งออกในช่วงไฮซีซั่น ก่อนปิดโรงงานในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึง (10-17 ก.พ.) ซึ่งจีนยอมจ่ายสูงในการจองพื้นที่ ส่งผลให้ค่าระวางเรือยังปรับขึ้นตามกลไกตลาด”

ขณะเดียวกัน ณ เวลานี้ สายเดินเรือยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ(Surcharge) จากลูกค้าเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเหตุฉุกเฉิน ค่าหยุดชะงักของระบบขนส่งค่าพีคซีซั่น ค่านํ้ามันที่เพิ่มขึ้นจากต้องใช้ระยะเวลาในการเดินเรือนานขึ้นกว่าจะถึงประเทศปลายทาง ค่าเสี่ยงภัย และอื่น ๆ ซึ่งในการขนส่งไปปลายทางในบางจุดข้างต้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้

  • ทิศทางต้นทุนยังพุ่งต่อ

ทั้งนี้ทิศทางค่าระวางเรือและค่าเซอร์ชาร์จต่าง ๆ ถึงปลายเดือนมกราคม หรือ 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ มองว่า น่าจะเป็นช่วงพีคหรือปรับขึ้นสูงสุด แต่หลังจากนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์กลุ่มฮูตีจะยังโจมตีเรือสินค้าหนักหน่วงมากขึ้นหรือไม่ หรือมีคู่กรณีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเดิมคู่กรณีเป็นอิสราเอล-ฮามาส เพิ่มเป็นอิสราเอล-ฮามาส-ฮูตี และเวลานี้เพิ่มเป็นอิสราเอล-ฮามาส-ฮูตี และอิหร่านที่ส่งเรือรบเข้าสู่ทะเลแดง ขณะที่อีกฝ่ายที่สนับสนุนอิสราเอลคือ สหรัฐ อังกฤษ และชาติพันธมิตรจากตะวันตก ซึ่งหากหลังตรุษจีนสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย แนวโน้มค่าระวางเรือ และค่าเซอร์ชาร์จต่าง ๆ จะยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย และยังขยายตัวยาวไปถึงเดือนมีนาคม สิ่งที่จะมีผลกระทบ อันที่ 1 คือต้นทุนสินค้าที่จะไปประเทศปลายทางจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 2.ผลต่อการเจรจาต่อรองราคาสินค้าสำหรับออร์เดอร์ใหม่ 3.อาจเกิดซัพพลายเชน ดิสรัปชั่นจากเวลานี้การขนส่งสินค้าไปยุโรปเริ่มติดขัด และใช้เวลาขนส่งนานขึ้น 15-30 วัน

4.ความเชื่อมั่นของลูกค้าจากยุโรป และตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในเรื่องต้นทุน ราคาสินค้า และการส่งมอบ อาจทำให้การสั่งซื้อลดลง (สหภาพยุโรป และตะวันออก เป็นตลาดการค้าของไทย(ส่งออก+นำเข้า) มูลค่ารวมกันกว่า 2.83 ล้านล้านบาทช่วง 11 เดือนแรกปี 2566)

“ตลาดยุโรปเราส่งออกไปสัดส่วนประมาณ 7-8% ของการส่งออกไทยโดยรวม ส่วนตะวันออกกลางสัดส่วนประมาณ 4% เวลานี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทะเลแดง แต่ผมไม่อยากให้มองแค่ 2 กลุ่มประเทศนี้ แต่อยากให้มองว่าจะมีผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังตลาดภูมิภาคอื่น ซึ่งเวลานี้ยังโชคดีที่ทวีปอื่นยังไม่ได้รับผลกระทบไม่เหมือนตอนโควิด ระยะเวลาที่เหลืออีกกว่า 11 เดือนของปีนี้ยังต้องลุ้นกันยาว ๆ ว่าเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 10 ล้านล้านของกระทรวงพาณิชย์ จะสามารถทำได้หรือไม่ ส่วน สรท.เราคาดจะขยายตัวในเบื้องต้น 1-2% ซึ่งโดยสรุป เรื่องของ Geopolitics เป็นสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ”

  • เร่งตลาดใหม่-ลดต้นทุน

ประธาน สรท.ได้ให้คำแนะนำภาครัฐและผู้ส่งออกของไทยในการรับมือคือ 1.เร่งหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย โดยตลาดที่มองว่าพึ่งพาได้ ได้แก่ อาเซียน และจีน 2. การลดต้นทุน ทั้งนี้หากหลังตรุษจีนแล้วสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และยืดเยื้อต่อไปสิ่งที่ตามมาคือราคานํ้ามันโลกที่จะปรับเพิ่มขึ้น จากการกลับมาเปิดโรงงานผลิตของจีน ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต้นทุนการผลิต และเงินเฟ้อของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 3.ต้องตามค่าระวางเรือ ให้เป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งเวลานี้ทางกระทรวงพาณิชย์ สรท.และสายเดินเรือได้ประสานการทำงานร่วมกันเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้ผู้ส่งออกได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าระวางเรือ และเซอร์ชาร์จที่เป็นธรรม

  • ห่วงซัพพลายเชนดิสรัปชั่น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มองเป็นจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ และการผลิตเพื่อส่งออกของไทยในอันดับต้น ๆ ของปีนี้ ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ในทะเลแดงอย่างใกล้ชิดว่าจะขยายวงไปมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะเพียงแค่นี้ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และการค้าโลก ตลาดยุโรปมีความเสี่ยงเกิดซัพพลายเชนดิสรัปชั่น จากการขนส่งที่ล่าช้ามากขึ้น ค่าระวางเรือ ค่าเสี่ยงภัย ค่านํ้ามันในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เดิมทุกฝ่ายคาดจะฟื้นตัว หรือขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ แต่เพียงเริ่มต้นปีมาทิศทางก็ยังไม่มีความแน่นอน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ค่าระวางเรือบวกค่าเซอร์ชาร์จต่าง ๆ จากเอเชียไปยุโรป เวลานี้บางจุดขึ้นไปถึง 10,000 เหรียญต่อตู้แล้ว อันนี้เป็นภาพฝันร้ายที่กลับมาหลังจากช่วงโควิด ตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้นราคาก็พุ่งไปมาก ยังไม่รู้ทิศทางสงครามจะเป็นอย่างไร หากบานปลายราคาก็จะยิ่งแพงขึ้น อาจส่งผลให้ซัพพลายเชนดิสรัปชั่นขอองโลกกลับมาอีกรอบ ต้นทุนและราคาสินค้าที่จะแพงขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อ และต้นทุนทุกอย่างอาจเพิ่มขึ้น ล่าสุดจีดีพีไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะจะมีโมเนตัมถึงปีนี้ ที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกอยู่มาก”

  • หวังท่องเที่ยวประคอง ศก.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปีนี้คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มฮูตีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจบลงอย่างไร ซึ่งจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโนมฟื้นตัวช้าและมีความไม่แน่นอน โดยสหรัฐฯ และยุโรปเศรษฐกิจยังชะลอตัวจากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องจับตาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปี 2567 หรือไม่ หาก Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) มีการลดอัตราดอกเบี้ยจริง จะช่วยผ่อนคลายปัญหาต้นทุนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจทั่วโลกลงไปได้ ส่วนเศรษฐกิจจีนปีนี้มีแนวโน้มโตไม่ถึง 5% จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ”

ดังนั้นไทยต้องเตรียมรับมือ เช่น ดูแลภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น การดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนด้านการค้า การส่งออกได้ดีมากขึ้น และเร่งเดินหน้าเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดการค้า และดึงการลงทุนเข้าประเทศ

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3961 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2567