"เศรษฐา ทวีสิน" อดีตซีอีโอแสนสิริ ผู้ติดฉลากข้างตัวเป็น "เซลส์แมนประเทศไทย" ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เดินสายโรดโชว์ต่างประเทศใกล้-ไกล ทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น
ในโอกาสเยือนประเทศต่าง ๆ แนะตัวอย่างเป็นทางการก็ดี หรือเข้าร่วมเวทีการประชุมระหว่างประเทศก็ดี "เศรษฐา" ได้พบปะผู้นำต่างประเทศมหาอำนาจ-มหามิตร และนักธุรกิจชั้นนำของโลกหลายราย เพื่อเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาแล้ว 11 ประเทศ
โดยมีสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เป็น "อาวุธประจำกาย" เป็น "หัวหอก" ขนแพคเกจเมกะโปรเจกต์-โครงการเรือธง "แลนด์บริดจ์" หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ทั้งนี้ บีโอไอได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 592.851 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่ได้รับจำนวน 535.364 ล้านบาท เฉพาะโครงการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งการลงทุนในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ จำนวน 122.912 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ วงเงิน 68.899 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายชักจูงการลงทุนในประเทศ วงเงิน 1.406 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม จำนวน 950,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการเสริมภาพลักษณ์การลงทุน 9.926 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ วงเงิน 1.710 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนบริการด้านสมาร์ทวีซ่า SMART Visa และ LTR Visa วงเงิน 6.652 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนงานบริการชาวต่างชาติ วงเงิน 3.371 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย (Thailand Branding) วงเงิน 30 ล้านบาท
"บีโอไอ" ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร ถึงวัตถุประสงค์ค่าใช้จ่ายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ วงเงิน 68.899 ล้านบาท ว่า
เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาของบีโอไอในต่างประเทศ เนื่องจากมีบุคลากรทำงานในต่างประะเทศไม่มากนัก และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดนิทรรศการ
ขณะที่ค่าใช้จ่าย Thailand Branding วงเงิน 30 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนโครงการ Thailand Branding ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการลงทุนจากต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการลงทุนต่าง ๆ ของประเทศไทย
ตั้งแต่นายเศรษฐารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศแล้ว 11 ประเทศ ดังนี้
- วันที่ 18 – 24 กันยายน 2566 เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
- วันที่ 28 กันยายน 2566 เดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8 - 12 ตุลาคม 2566 เยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (BRF) และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 20 - 21 ตุลาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
- วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (APEC) ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- วันที่ 14- 19 ธันวาคม 2566 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- วันที่ 15 -19 มกราคม 2567 เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส