"มนพร"แจงสภา "แลนด์บริดจ์"ฟังข้อมูลทุกมิติ หากไม่คุ้มค่าพร้อมทบทวน

18 ม.ค. 2567 | 15:04 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 15:24 น.

รมช.คมนาคม แจงสภา ชี้ "แลนด์บริดจ์"เป็นประโยชน์การขนส่งทางเรือ ลดความแออัดช่องแคบมะละกา ระบุ กรรมาธิการฯ ฟังข้อมูลทุกมิติ หากศึกษาแล้วประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ ต้องทบทวน

วันที่ 18 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ถาม นางสาวศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถึงกรณีที่มีผู้ต่อต้านโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ทุกโครงการมักมีผู้ต่อต้านในพื้นที่ ก่อนการเริ่มโครงการจะต้องศึกษา โดยสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่ มาให้ข้อมูล มีการศึกษาทุกมิติ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ต่างประเทศ ความคิดเห็นภาครัฐ เอกชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ย่อมกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนในพื้นที่ จึงจะต้องมีแผนรองรับในอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว


 

นางมนพร กล่าวว่า รวมทั้งจะมีการตรากฎหมายระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) คล้ายกับกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการเวนคืนที่ดิน รัฐบาลจะดำเนินการตามแนวทางที่ประชาชนแสดงความเห็นไว้ โดยเฉพาะกรรมสิทธิ์ที่ดิน การประมงพื้นบ้าน 

ส่วนการลงพื้นที่ของกรรมาธิการนั้น ได้รับเสียงตอบรับจากภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ข้อกังวลที่จะส่งกระทบต่อการประมงพื้นบ้านนั้น ชาวประมงในพื้นที่จริง ๆ ยืนยันว่าไม่ได้รับกระทบ ดีใจที่ความเจริญมาถึง มีโอกาสขยายธุรกิจการประมงให้มีมากขึ้น มีระบบการคมนาคมขนส่งที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางที่ถูกกดราคา 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับความก้าวหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะนี้ กระบวนการศึกษายังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากยังมีกระบวนการศึกษาความเหมาะสมในการออกแบบท่าเรือ การศึกษาในการลงทุน การศึกษาสิ่งแวดล้อมทางด้านรถไฟ และการจัดสร้างมอเตอร์เวย์

โดยความก้าวหน้าได้ออกแบบท่าเรือเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ และการออกแบบในกระบวนการอื่นๆ จนทำให้เกิดผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รัฐบาลพร้อมรับฟังเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น มั่นใจว่า โครงการดังกล่าว ภูมิศาสตร์ของไทย จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่มีที่ตั้งล้อมรอบด้วย 2 มหาสมุทร เป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง 
 

ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถาม เปรียบเทียบระยะทางการลดระยะทาง และค่าใช้จ่าย จากจีนตะวันออก ไปยุโรป ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก ในกรณีที่มีแลนดจ์บริดจ์ กับการใช้ช่องแคบมะละกา ในกรณีที่ไม่มีโครงการ 

นางมนพร ชี้แจงว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ได้ถูกออกแบบ เพื่อลดระยะเวลา ต้นทุนการขนส่ง เนื่องจาก ปัจจุบันมีปัญหาความคับคั่งในการขนส่งทางเรือ บริเวณช่องแคบมะละกา เรือต้องลดความเร็วในการเข้าจอด และยังมีปัญหาเรือสินค้าถูกปล้นในช่องแคบมะละกา เส้นทางการขนส่งพื้นที่เอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย ปัจจุบัน มีการขนส่งสินค้าจากจีน ไปยังออสเตรเลียทางเรือ ประเทศจีนมีขนาดใหญ่ ภาคใต้ของประเทศจีนไม่ติดทะเล ต้องขนส่งผ่านบังคลาเทศ สปป.ลาว ก่อนเชื่อมเข้ามาประเทศไทย

เชื่อว่า แลนด์บริดจ์ จะช่วยลดเวลาการขนส่งจากจีนตอนใต้ โดยสามารถขนส่งทางเรือจากท่าเรือจีนอื่น ๆ มาเข้าฝั่งที่ท่าเรือฝั่งระนอง และชุมพร ทำให้สามารถประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย มั่นใจว่า ในระยะยาวโอกาสที่เรือขนาดใหญ่จะเข้าฝั่งระนอง จะมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะระนองอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางเดินเรือปัจจุบัน 

แลนด์บริดจ์รองรับสินค้าเทกอง และจะมีท่อน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมันหรือไม่นั้น นางมนพร ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ได้ระบุถึงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน หรือจะนำสินค้าประเภทใดเข้าสู่แลนด์บริดจ์ เพราะเป็นขั้นตอนปลายทาง เพียงแต่ตอนนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ยืนยันว่าบริษัทที่ปรึกษา จะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุน จะต้องเข้ามาศึกษาในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่า นักลงทุนก็จะไม่มาลงทุน ดังนั้นเมื่อศึกษาแล้วประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ ต้องกลับมาทบทวน

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า รายละเอียดโครงการต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน แต่รัฐบาลกลับวางแผนสร้างโครงการต่างๆ ขนาดใหญ่ มีการกำหนดตัวเลขต่างๆ ที่สูงเกินจริง ในหลายโครงการ ขอให้รัฐบาลไตร่ตรองให้ดีว่า แลนด์บริดจ์ ควรทำหรือไม่ทำ เพราะแม้จะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่ก็มีการเสียต้นทุนที่เกิดขึ้น ทั้งประชาชนสูญเสียที่ดิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น มลพิษทางชายฝั่งทะเลที่กระทบชาวประมง และการท่องเที่ยว รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ขอให้รัฐบาล เปิดเผยข้อมูลให้ตกผลึกก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะไปเร่ขายฝัน และควรนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป็นตัวตั้ง มากกว่าการสร้างโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ สุดท้ายไม่มีนักลงทุนเข้ามา เพราะในอดีตมีตัวอย่างความล้มเหลวโครงการขายฝันขนาดใหญ่ในภาคใต้มาแล้ว ทั้งแลนด์บริดจ์กระบี่-ขนอม หรือแม้แต่ด่านสะเดา ที่ไม่มีผู้ใช้งาน รวมถึงท่าเรือระนอง ที่ผู้รับเหมารวยไปแล้วบนความทุกข์ร้อนของประชาชน ขอให้รัฐบาลไตร่ตรองให้ดี 

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า จากผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ พบว่า การขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ในการขนย้ายสินค้าขึ้น-ลง และสายการเดินเรือ ต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เสียเวลาที่มากกว่าการใช้ช่องแคบมะละกา และช่องทางการเดินเรืออื่นๆ

รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญในการชี้แจงความคุ้มค่าของการลงทุน เพราะเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุนลง รวมถึงยังมีผลระทบชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาล กลับต้องการเพิ่มขนาด และข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่กลับนำไปเร่ขาย กังวลว่า จะเป็นการขายหน้ามากกว่าขายของ