ครม. รุก Blue Ocean เชื่อมแลนด์บริดจ์ กินส่วนแบ่งตลาด 7 ประเทศ 1,700 ล้านคน

16 ม.ค. 2567 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2567 | 15:47 น.
574

ครม.ไฟเขียว ร่างความตกลง 7 ประเทศ กลุ่ม BIMSTEC รุก Blue Ocean กินส่วนแบ่งตลาด 1,700 ล้านคน เชื่อม แลนด์บริดจ์ ปักหมุด เปิดประมูล ต้นปี 68

วันนี้ (16 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และราชอาณาจักรไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

นายชัยกล่าวว่า ไทยเคยทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเลกับประเทศต่างๆ เช่น เปรู เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเลระหว่างภาคีร่างความตกลงฯ ภายใต้หลักเสรีภาพในการเดินเรือและหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำความตกลงระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC จำนวน 7 ประเทศ

นายชัยกล่าวว่า ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการพาณิชยนาวีและการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอ่าวเบงกอล โดยมีขอบเขตการใช้บังคับกับเรือ บริษัทเรือ ลูกเรือ และสินค้าบนเรือ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure: SOP)

นายชัยกล่าวว่า ร่างความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นการสร้างกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุน อันจะนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของไทยในสาขาความเชื่อมโยงทางทะเลในเวทีระหว่างประเทศ ภายใต้บริบทด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งเสริมสถานะความเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางบกและทางทะเลของไทยที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

 

นายชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการกำหนดเป้าหมายและท่าทีด้านความเชื่อมโยงทางทะเลที่ไทยต้องการผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในฐานะประเทศผู้นำ (Lead country) ด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC

นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างความตกลงฯ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามดังกล่าว

นายชัยกล่าวว่า และดำเนินการจัดทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) แจ้งการมีผลใช้บังคับของร่างความตกลงฯ

นายชัยกล่าวว่า เมื่อกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ว่าได้ดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้ว (เดิมจะมีการลงนามร่างความตกลงฯ ระหว่างการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งมีกำหนดจัดประชุมวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ฃ

นายชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า การประชุมดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป ทำให้ยังไม่ทราบกำหนดวันลงนาม ทั้งนี้ ร่างความตกลงฉบับนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

"ร่างความตกลงฯ นี้เมื่อเซ็นไปแล้ว วันหนึ่งมีท่าเรือระนองหรือมีโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น ตลาด 1,730 ล้านคนในภูมิภาค 7 ประเทศ ประเทศไทยจะได้เปรียบอย่างยิ่ง"นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าาวถึงการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดระนองในวันที่ 22 มกราคมนี้ จะมีการไปดูจุดสร้างท่าเรือโครงการแลนด์บริดจ์ หากระนองมีท่าเรือสำคัญจะกินส่วนแบ่งตลาดในอ่าวเบงกอล 1,700 กว่าล้านคน เราเป็นประเทศที่เจริญที่สุดในกลุ่ม BIMSTEC เศรษฐกิจเราดีที่สุด สอง ตลาด 1,700 กว่าล้านคน ง่ายกว่าจีน เพราะการแข่งขันต่ำ 

"ตรงอ่าวเบงกอลเป็นวาระที่ประเทศไทยได้ประโยชน์เยอะ เพราะเป็นตลาด Blue Ocean คือ ยังไม่มีการแข่งขันเยอะ ประชากรเยอะ ค้าขายเงื่อนไขไม่เยอะ"นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวว่า คนไม่เห็นด้วยก็มี รัฐบาลก็ฟังทุกคน และรู้ว่านโยบายใหญ่ ๆ ไม่มีคนเห็นด้วย 100 % อยู่แล้ว เราก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี 

นายชัยกล่าวว่า การประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดระนอง ยังไม่มีการคิ๊กออฟโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะอยู่ระหว่างโรดโชว์ต่างประเทศ ซึ่งเราวางโรดโชว์ไว้ปี 67 ไปจนถึงต้นปี 68 และเราจะเปิดให้มีการประมูล ซึ่งต้องเป็นนักลงทุนเจ้าเดียวดำเนินการทั้งหมด อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการเจ้าเดียวอาจจะเป็น consortium ได้  

"การศึกษาของ สนข. เป็นการศึกษาเบื้องต้น เหมือนขาย Teaser ให้ดูฉายหนังตัวอย่างให้ศึกษาเพื่อชักชวนให้คนมาลงทุน เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาให้สมบูรณ์ ทุกอย่าง เพราะเราไม่ได้ควักเงินลงทุนเอง เราจะไปชวนนักลงทุนว่า ทำเลนี้ดี เราไม่ได้มีหน้าที่ไปศึกษาให้ครบ เพราะเราไม่ได้เป็นคนลงทุน ไม่ว่าเราจะศึกษาเยอะขนาดไหน บริษัทลงทุนไม่มีทางเชื่อเรา 100 % เขาต้องมาศึกษาและประเมินด้วยตัวเอง เราเพียงแนะนำ อำนวยความสะดวกให้"นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวว่า ภายหลังจากโรดโชว์ มีญี่ปุ่นหลายบริษัท สหรัฐฯ จีน ตะวันออกกลาง แสดงความสนใจ ซึ่งการเดินทางของนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2024 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15 -19 มกราคม 2567 คนจัดงานเสนอให้ไทยช่วยมานำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะสนใจ