CEO ดุสิต ถอดรหัสท่องเที่ยวปี 2567 แนะ 8 เทรนด์สร้างโอกาส

15 ม.ค. 2567 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 14:51 น.

ความท้าทายหลักของการท่องเที่ยว และเทรนด์การท่องเที่ยวในปีนี้จะเป็นเช่นไร ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างโอกาส ฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้น “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ที่จะมาถอดรหัสทิศทางการท่องเที่ยวในปี 2567 นี้

  • 4 ปัจจัยความท้าทายท่องเที่ยว ปี 2567

ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)  มองว่า ความท้าทายหลักๆ ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปี 2567 นี้ ว่าหลักๆจะมีทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่

1.ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการใช้จ่าย

2.ปัญหาเรื่องการแข่งขัน เนื่องจากหลายประเทศเห็นการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ จึงเกิดการแย่งนักท่องเที่ยว เราจึงต้องแข่งขันกับประเทศอื่น และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นที่นักท่องเที่ยวต้องการมา

3.ปัญหาแรงงาน  ที่ทั้งขาดแคลนจำนวนแรงงาน และแรงงานขาดทักษะ 

4. ปัญหาการแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาเรื่องมลภาวะ

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงเผชิญกับปัจจัยความท้าทายเดิม ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือปัญหาโลกร้อน

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

ทำให้ทุกคนต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องมีความยืดหยุ่น เตรียมความพร้อม รวมถึงทบทวนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

  • แนะคว้าโอกาส 8 เทรนด์ท่องเที่ยว 2024

จากปัจจัยท้าทายดังกล่าว ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง โดย เทรนด์การท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะมีใน 8 เรื่องหลัก  ได้แก่

1.การเที่ยวใกล้ เที่ยวอย่างคุ้มค่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น ราคาตั๋วแพงขึ้น ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักท่องเที่ยวจะหันมาท่องเที่ยวใกล้ๆ เพื่อเพิ่มความคุ้มค่า เช่น ท่องเที่ยวภายในโซนเดียวกันมากขึ้น (Intraregional) เช่น เอเชีย-เที่ยวเอเชีย หรือ ยุโรป-เที่ยวภายในยุโรป

2. การเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่น้อยลง แต่จะเป็นการเดินทางแบบกลุ่มเล็กมากขึ้น เช่น คู่รัก ครอบครัว และ การเดินทางคนเดียว แบบมาทำงาน (workation หรือ digital nomad) เรื่องนี้ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องการทำตลาดให้โดนใจแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

CEO ดุสิต ถอดรหัสท่องเที่ยวปี 2567 แนะ 8 เทรนด์สร้างโอกาส

3.ความสะดวกสบายและปลอดภัย ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ ซึ่งในประเด็น ด้านความปลอดภัยนั้นรวมถึงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และปลอดภัยในส่วนของข้อมูล ส่วนตัวด้วย เพราะขณะนี้ความสำคัญเรื่อง PDPA ก็เป็นปัจจัยหลักคู่ไปกับเรื่องความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

ส่วนในประเด็นของความสะดวกสบาย เริ่มตั้งแต่ก่อนที่นักเดินทางจะตัดสินใจ เช่นความสะดวกในการหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ตรงใจ มีการนำเรื่องของความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาช่วยเสริม เช่น มี super app เป็นศูนย์กลางของข้อมูล, ใช้เทคโนโลยี มาช่วยลดความแออัดของการตรวจคนเข้าเมือง, ความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง เครื่องบิน รถ ราง เรือ ทั้งเมืองหลักเมืองรอง เป็นต้น

4. ท่องเที่ยวตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ เพราะปัจจุบัน social media มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ นักท่องเที่ยวมักจะอ่านรีวิวหรือท่องเที่ยวตามรอยอินฟูลเอนเซอร์มากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องใช้ social media ให้ถูกทางเพื่อนำมาต่อยอดในการทำการตลาด  รวมถึงต้องบริหารจัดการช่องทางการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย และจัดการกับข่าวลบๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

5.ท่องเที่ยวแบบท้องถิ่น และ unseen วิถีแบบคนท้องถิ่น (authentic) และเรื่องราวต่างๆ (story) เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมองหา และจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้เงินมากขึ้น และอยู่นานขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดุสิตธานีให้ความสำคัญและเดินหน้าสร้างการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่นหรือชุมชน ไม่ใช่เพียงตอบความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวเท่านั้นแต่เรายังมุ่งมั่นที่จะเชิดชูคุณค่าของท้องถิ่นหรือชุมชน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงท้องถิ่นหรือชุมชนต่างๆ ได้มากขึ้น

6.ความยั่งยืน (Sustainability) มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ปัจจุบันเราจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และพร้อมที่จะมีบทบาทในการสร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกท่องเที่ยวแบบมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมากๆ สำหรับการท่องเที่ยว และควรได้รับการตอบสนองจากผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

CEO ดุสิต ถอดรหัสท่องเที่ยวปี 2567 แนะ 8 เทรนด์สร้างโอกาส

7.ความใส่ใจในสุขภาพ (wellness/healthcare) นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสุขภาวะที่ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เสริมบริการด้านโปรแกรมดูแลสุขภาพ กายใจ และอาหารเพื่อสุขภาพ ส่วนนี้จะเป็นแต้มต่อที่ทำให้เราแตกต่าง และสามารถเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

8.การเดินทางแบบธุรกิจ และ MICE จะมีการเติม Virtual Technology เข้ามา เพื่อขยายจำนวนคนเข้างานหรือขยายการมีส่วนร่วมหรือการเข้าถึงเนื้อหาให้มากขึ้น ซึ่งด้วยเทคโนโลยี จะทำให้เราเชื่อมต่อกับคนเข้าร่วมงานในแต่ละพื้นที่ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจบงาน นับเป็นการต่อยอดสร้าง impact เพื่อขยายขอบเขตในการสร้างรายได้ให้มากขึ้น  ซึ่งแนวโน้มนี้ยังคงอยู่และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

CEO ดุสิต ถอดรหัสท่องเที่ยวปี 2567 แนะ 8 เทรนด์สร้างโอกาส

  • ฝากรัฐบาลเน้น “สร้าง-กระตุ้น-ลด” ขับเคลื่อนท่องเที่ยว

นางศุภจี ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้อุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ซึ่งในภาพรวมการจะปรับปรุงหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และทุกมิติของอุตสาหกรรม

ไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยว  ตั้งแต่ รัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม เพราะปัญหาการท่องเที่ยวควรมีการแก้แบบองค์รวม ที่ต้องมีการประสานงานกันถึงจะประสบความสำเร็จ   

เพราะการท่องเที่ยวที่จะตอบโจทย์นักเดินทางได้นั้นต้องมีส่วนร่วมกับหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น Travel + Transportation , Travel + Medical, Travel + Technology and TeleCommunication จึงจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ในรูปแบบที่ครบถ้วนและตรงใจตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ นับตั้งแต่เดินทางเข้ามาจนเดินทางกลับออกไปด้วยความประทับใจ

รวมถึงยังต้องเพิ่มความตระหนักรู้ และเข้าใจในรายละเอียดของทุกประสบการณ์การท่องเที่ยว เพื่อทำการตลาดแบบเจาะจง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย

CEO ดุสิต ถอดรหัสท่องเที่ยวปี 2567 แนะ 8 เทรนด์สร้างโอกาส

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาลคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 หมวด คือ “สร้าง-กระตุ้น และลด” โดย “สร้าง” ได้แก่ การสร้างแบรนด์ดิ้งให้ไทยเป็น premium destination และ ชู soft power ของไทยออกมาให้ชัดเจน สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเรื่องปลอดภัย สะดวก สะอาด โปร่งใส สร้างมาตรฐานยกระดับทักษะความรู้ มาตรฐานแรงงานควบคู่ไปกับการขึ้นค่าแรง สร้างมาตรฐานของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเพื่อการันตรีคุณภาพ ผ่าน platform Thai Select เป็นต้น

ส่วนการ “กระตุ้น” อาทิ การจูงใจให้ยกระดับมาตรฐานการทำงาน ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ กระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่นให้องค์กรที่ดำเนินการด้านความยั่งยืน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี หรือ องค์กรที่รับซื้อและสนับสนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ สามารถเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เป็นต้น

ขณะที่ “ลด” คือการลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจทำงานอย่างรวดเร็ว คล่องตัว ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม เช่น มีการลดจำนวนใบอนุญาต หรือ ปรับปรุงกฎระเบียบ และกฎหมาย สำหรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปของโลกนั่นเอง