ดีพร้อมนำร่อง Fashion Powerhouse ดัน"Soft Power"ปลุกเศรษฐกิจ 500 ล้าน

09 ม.ค. 2567 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 18:08 น.

ดีพร้อมนำร่อง Fashion Powerhouse ดัน"Soft Power"ปลุกเศรษฐกิจ 500 ล้าน เดินหน้าสร้างสรรค์ ดันกระแสแฟชั่นไทย พร้อมเปิดเวทีจับคู่ธุรกิจยกระดับสินค้าไทยสู่เวทีโลก รับนโยบายรัฐบาล

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้ดำเนินการร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่นจัดทำโครงการนำร่อง Quick Win 100 วัน อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ผ่านหลักสูตรปลุกพลังสร้างสรรค์ ดันกระแสแฟชั่นไทย หรือ Fashion Powerhouse  

ทั้งนี้ เพื่อจุดประกาย และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในระบบนิเวศอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ได้แก่ นักออกแบบ โรงงานผู้ผลิตสินค้าแฟชั่น โรงงานผู้ผลิตวัตถุดิบ เกิดการร่วมมือกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการปรับกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจ จากการแข่งขันด้านราคาสู่ชุดความคิดใหม่คือ ไลฟ์สไตล์ใหม่ด้านคุณค่า คุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ เน้นการสร้างสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับและส่งเสริมตราสินค้าไทยให้เติบโต เป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีโลก 

โดยจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและพึ่งพากันภายในห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงเป็นการผลักดันทั้งระบบจนเกิดเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
 

สำหรับหลักสูตร Fashion Powerhouse นั้น เป็นหลักสูตรนำร่องในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการแฟชั่นไทยให้มีแนวทางในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ สรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่ยอมรับด้วยคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้วยพลัง Soft Power อย่างแท้จริงสู่ตลาดโลก 

ดีพร้อมนำร่อง Fashion Powerhouse ดัน"Soft Power"ปลุกเศรษฐกิจ 500 ล.

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการบริหารธุรกิจและแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การบริหารธุรกิจด้วยความเข้าใจ (Leading with Empathy) การตลาดและการบริหารสินค้าแฟชั่น (Fashion Marketing & Merchandising Cycle) แฟชั่นเพื่อการปรับตัวสู่อนาคต (Fashion for Resilient Future) การติดปีกธุรกิจด้วยห่วงโซ่คุณค่า (Leveraging Business Through Value-Chain) เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเปิดรับสมัครดีไซเนอร์ หรือเจ้าของธุรกิจที่สนใจในการสร้างแบรนด์ ต่อยอดขยายธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก OEM เป็นแบบ ODM หรือ OBM 

และยังได้ความสนใจและกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ Greyhound แบรนด์ ISSUE แบรนด์ GENTELWOMAN รวมไปถึงแบรนด์และบริษัทอื่น ๆ ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 
 

ช่วงแรกระหว่างวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2566 และ 8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาแบบเข้มข้นจากเจ้าของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงกูรูการตลาดแฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทย มาให้องค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ รูปแบบบริหาร การทำการตลาดและการต่อยอดดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงแนวทางในการร่วมมือทางธุรกิจหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Futures Foreign Workshop) เพื่อวิเคราะห์เทรนด์โลกและทิศทางสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น

ช่วงที่ 2 ในวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรม Business Matching หรือการจับคู่ธุรกิจ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนกว่า 100 คน ได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนกัน หรือส่งเสริมต่อยอดธุรกิจกันไปได้หลากลายมิติ 

"โครงการปลุกพลังสร้างสรรค์ดันกระแสแฟชั่นไทย หรือ Fashion Powerhouse ที่จัดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังกันของผู้ประกอบการเล็ก-ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทุกแขนงได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การแข่งขันด้านคุณค่า ความคิดสร้างสรรค์ด้วยพลัง Soft Power ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไปสู่ระดับโลก และยังถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ วิสัยทัศน์และมุมมองใหม่ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันระหว่างองค์กร เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตและคาดการณ์ว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจมากกว่า 500 ล้านบาท"