สรุปมาตรการเยียวยา ธ.ก.ส. ช่วยเหลือน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

30 ธ.ค. 2566 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2566 | 12:47 น.

สรุปมาตรการเยียวยา ธ.ก.ส. ช่วยเหลือน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุสภาพอากาศฝนตกหนักถึงหนักมาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เกษตกรสามารถเช็กรายละเอียดตรวจสอบด่วน

สรุปมาตรการเยียวยา  ธ.ก.ส. ช่วยเหลือน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   จากกรณีที่ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และ จังหวัดยะลา

ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  จัดมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน.ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย โดยมอบหมายให้สาขามอบถุงยังชีพช่วยเหลือพร้อมการสนับสนุนสิ่งของจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมจัดมาตรการดูแลด้านภาระหนี้สิน ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพสร้างรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

 

สรุปมาตรการเยียวยา  ธ.ก.ส. ช่วยเหลือน้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   มีดังนี้

มาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติ

  • การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี
  • มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด
  • มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ธ.ก.ส.เยียวยาน้ำท่วมภาคใต้

 

 

มาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

  • สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี
  • สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง ธ.ก.ส. จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การมอบเงินสมทบทุนการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่อง.