ราคาข้าวพุ่ง รอบ16 ปี หมูเถื่อนทุบเศรษฐกิจแสนล้าน ส่งออก ไร้ปาฏิหาริย์

30 ธ.ค. 2566 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2566 | 10:18 น.
971

รวมปรากฎการณ์เด่นที่สุดแห่งปี 2566 ข่าวเศรษฐกิจ "ภาคเกษตร -ส่งออก" มีอะไรบ้าง บันทึกไว้เป็นประวัติศาตร์ เพื่อสะท้อนเป็นบทเรียนในปี 2567 ก้าวสู่ “ปีมะโรง-งูใหญ่” ที่กำลังจะมาถึง

ปี 2566 ปีเถาะ-กระต่าย ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ภาคการเกษตร และส่งออกของไทยมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเหตุการณ์ที่เป็นความสุข ความเศร้า และเหตุการณ์ที่ยังต้องติดตามตอนต่อไปในปี 2567 หรือ “ปีมะโรง-งูใหญ่” ที่กำลังจะมาถึง ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ขอบันทึกไว้ดังนี้

 

ราคาข้าวพุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี

ปี 2566 นับเป็นปีทองของชาวนา ข้าวไทยขายได้ราคาดี ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รัฐบาลอินเดียได้มีประกาศห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ อานิสงส์ตกกับผู้ส่งออกข้าวของไทยที่สามารถส่งออกไปทดแทนข้าวอินเดียได้มากขึ้น โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้มากกว่า 8 ล้านตัน(จากปี 2565 ส่งออกได้ 7.69 ล้านตัน) ส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศที่เกษตรกรขายได้ ยืนเหนือระดับ 10,000 บาทต่อตัน ล่าสุด ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2566 เฉลี่ยที่ 12,300-12,700 บาทต่อตัน ซึ่งยังเป็นระดับราคาที่พุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี

 

หากยังจำกันได้ในปี 2550-2551ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง สต๊อกข้าวโลกลดลง ทุกคนตกใจว่าข้าวจะขาด ทำให้เกิดการแย่งซื้อ ส่งผลราคาข้าวทั้งในประเทศ และราคาข้าวส่งออกปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับวันนี้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากอินเดียยังจำกัดการส่งออกข้าวขาว ปากีสถานส่งออกข้าวลดลง ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มลดลงจากความเสี่ยงเอลนีโญ ล่าสุดอินโดนีเซียขอซื้อข้าวไทยอีก 2 ล้านตันเพื่อส่งมอบปีหน้า คาดจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศยังทรงตัวในระดับที่ดี ชาวนายังลืมตาอ้าปากได้ แม้ไม่มีโครงการประกันรายได้ของรัฐที่คอยช่วยเหลือแล้วก็ตาม

 

ราคาข้าวพุ่ง รอบ16 ปี หมูเถื่อนทุบเศรษฐกิจแสนล้าน ส่งออก ไร้ปาฏิหาริย์

 

สามัคคี “ข้าว” ทวงไร่ละพัน

ราคาข้าวพุ่ง รอบ16 ปี หมูเถื่อนทุบเศรษฐกิจแสนล้าน ส่งออก ไร้ปาฏิหาริย์

ช่วงปลายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำนักงบประมาณได้มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 หรือ “เงินช่วยเหลือชาวนา”  ไร่ละ 1,000 บาท (ไม่เกิน 20 ไร่) ในรูปแบบใหม่ จากเกรงชาวนาจะใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยจากวงเงินที่จะจ่ายขาด 54,000 ล้านบาท จะเปลี่ยนเป็นจ่ายผ่านกรมการข้าว และปรับลดวงเงินลงมาเหลือ 15,260 ล้านบาท โดยให้จ่ายในลักษณะเพื่อการลงทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

 

ในขณะนั้นทางผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้แนะนำว่า ควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบทั่วกันก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ ไม่ใช่นั้นจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ และทำให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ และข้อกังวลนั้นก็เป็นจริง เมื่อทำให้สมาคม องค์กรเกี่ยวกับชาวนาลุกฮือทั้งประเทศแสดงไม่พอใจ และขยายตัวเป็นวงกว้าง ที่จู่ ๆ จะมาล้มโครงการไร่ละพัน

 

 

โดยให้เงินมาซื้อเครื่องจักรผ่านศูนย์ข้าวชุมชนแทน ในที่สุดก็ทนแรงต้านไม่ไหว ต้องจ่ายแบบเดิม รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต้องกัดฟันจ่ายต่ออีก 1 ปี โดยแจ้งล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะไม่อุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ว่ารูปแบบใดในปี 2567 แต่หากเกษตรกรประสบปัญหาราคาสินค้าตกตํ่า รัฐบาลก็จะไม่นิ่งดูดาย ยังคงช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ก้าวผ่านช่วงวิกฤต

 

“หมูเถื่อน” ทุบเศรษฐกิจแสนล้าน

“หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าโดยสำแดงเท็จ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเป็นคดีพิเศษ หลายฝ่ายตั้งความหวังจะกระชากหน้ากากไอ้โม่งที่เป็นตัวการใหญ่ที่เป็นผู้ทำลายภาคปศุสัตว์ของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมเอามาลงโทษให้ได้ ซึ่งจากเส้นทางการนำเข้าหมูเถื่อนต้นทุนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัม (กก.)ละ 50-70 บาท แต่ถูกนำมาขายในราคาถูกกว่าราคาตลาด เฉลี่ยขายที่ กก.ละ 120-140 บาท ฟันกำไรเท่าตัว และหากคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าและลักลอบจำหน่ายแต่ละปีตกประมาณ 40,000 ล้านบาท ประเมินความเสียหายจากการเสียโอกาสของผู้เลี้ยงสุกร และห่วงโซ่การเลี้ยงรวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ คาดมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นมูลค่าที่สูงลิ่ว

ราคาข้าวพุ่ง รอบ16 ปี หมูเถื่อนทุบเศรษฐกิจแสนล้าน ส่งออก ไร้ปาฏิหาริย์

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศว่า “ก่อนสิ้นปีนี้จะเห็นหน้าตา ชื่อจริง นามสกุลจริง ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเป็นรายชื่อนักการเมืองที่เป็นข่าวไปแล้ว ยืนยันว่าเอาผิดได้แน่นอน บริษัทใหญ่ๆ ก็โดนหมด (DSI จะเป็นผู้แถลง)” ต้องติดตามว่าถึงที่สุดแล้วขบวนการหมูเถื่อนที่เกิดจากฝีมือนายทุน ชิ้ปปิ้ง นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ใครจะถูกลากตัวมาดำเนินคดีบ้าง จะได้ตัวการใหญ่เรียกเสียงฮือฮา หรือจะเป็นแค่ปลาซิวปลาสร้อยเป็นมวยล้มต้มคนดู คุ้มกันหรือไม่กับชีวิตหัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจสอบห้องเย็น รวมถึงเดิมพันด้วยอาชีพของเกษตรกรคนเลี้ยงหมูว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

 

ส่งออกปี 66 ติดลบล้าน%

 ปี 2566 เป็นอีกปีที่ภาคการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกขาลงตามภาวะเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง และดอกเบี้ยพุ่งปรี๊ด ส่งผลกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 ยังอยู่ในแดนลบ ก่อนจะมาพลิกบวก 4 เดือนติดต่อกันในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น สรุป 11 เดือนแรก การส่งออกไทยมีมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังหดตัวหรือติดลบ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือในรูปเงินบาทส่งออกแล้ว 9.01 ล้านล้านบาท ยังติดลบที่ 1.8% ซึ่งทั้งปี 2566 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ส่งออกไทยจะติดลบ 2.0% ถึงลบ 1.0% จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อต้นปีจะขยายตัวได้ 1-2%

 

ราคาข้าวพุ่ง รอบ16 ปี หมูเถื่อนทุบเศรษฐกิจแสนล้าน ส่งออก ไร้ปาฏิหาริย์

โดยสรุปการส่งออกของไทยในปี 2566 มีโอกาสติดลบสูง เพราะจากตัวเลขการส่งออกในปี 2565 ที่ทำได้ที่ 287,424.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ช่วง 11 เดือนแรกปี 2566 ส่งออกได้แล้วที่ 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากการส่งออกไทยจะสามารถทำได้ระดับเดียวกับในปี 2565 หมายความว่าเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปีนี้ต้องทำตัวเลขให้ได้ถึง 25,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เดือน ธ.ค. 65 ไทยส่งออกได้ 21,778 ล้านดอลลาร์) ดังนั้นปาฏิหาริย์ส่งออกไทยที่จะขยายตัวเป็นบวกในปี 2566 จึงมีความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28-30 ธันวาคม พ.ศ. 2566