มท.ออกเกณฑ์เก็บภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อุ้มเหตุ “ถมที่ดิน-น้ำท่วมขัง”

23 ธ.ค. 2566 | 14:47 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 16:21 น.
946

มหาดไทย ออกเกณฑ์จัดเก็บ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” หลังพบช่องว่าง ถมที่ดินแล้วแต่ยังไม่ก่อสร้าง และที่ดินน้ำท่วมขังทำเกษตรไม่ได้หลายปี ให้เป็นอำนาจท้องถิ่นออกคำสั่งลด-ยกเว้นภาษีได้

วันนี้ (23 ธันวาคม 2566) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีหนังสือหารือมายังกระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 กรณี ได้แก่ 

1. กรณีที่ดินที่ได้มีการถมดินไว้เพื่อก่อสร้างที่พักอาศัย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 จะสามารถนำมาใช้กับการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้หรือไม่

รวมทั้งที่ดินดังกล่าวจะถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อทำประโยชน์ตามกฎกระทรวง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562 หรือไม่ 

2. กรณีการของดเรียกเก็บหรือขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่มีน้ำท่วมขัง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้เป็นระยะเวลานานหลายปี

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบการหารือใน 2 กรณีเกี่ยวกับ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งได้พิจารณาข้อหารือ และมีหนังสือแจ้งแนวทางไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยชี้แจงรายละเอีย 2 กรณี ดังนี้ 

กรณีที่ 1 พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ถูกตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และไม่ได้มีผลทำให้ไปยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 เพราะระเบียบดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงภาษีหรือได้รับการยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 

ดังนั้น จึงไม่สามารถนำระเบียบดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาในการประเมินการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้ เพราะมีหลักการที่แตกต่างกัน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายคนละฉบับ 

นอกจากนี้ กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ที่ดินดังกล่าวได้มีการถมดินเพื่อจะก่อสร้างที่พักอาศัยแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างหรือทำประโยชน์อื่นใดตลอดปีที่ผ่านมา เพราะเจ้าของที่ดินไม่ได้ก่อสร้างบ้านตามที่ได้รับอนุญาตเนื่องจากสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้ชะลอการก่อสร้างไว้ และได้มีหนังสือขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแล้ว

ดังนั้น ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ตามข้อ 3 (1) ของกฎกระทรวง กำหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้มีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว

อีกทั้งไม่ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ก่อสร้างบ้านตามที่ได้รับอนุญาต

 

ภาพประกอบข่าว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงมหาดไทย

 

กรณีที่ 2 กรณีการของดเรียกเก็บหรือขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่มีน้ำท่วมขัง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้เป็นระยะเวลานานหลายปีนั้น หากผู้บริหารท้องถิ่นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรลดหรือยกเว้นภาษีให้กับผู้ยื่นคำขอ ก็สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 

ประกอบข้อ 27 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันทำให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหาย หรือถูกรื้อถอน หรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องทำการซ่อมแซมในส่วนสำคัญ ให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำขอลดหรือยกเว้นภาษีที่จะต้องเสียต่อผู้บริหารท้องถิ่น 

โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีเหตุอันสมควรลดหรือยกเว้นภาษี ให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งลดหรือยกเว้นภาษีได้ โดยคำนึงถึงสัดส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นและระยะเวลาที่ไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด ซึ่งในหลายกรณีนั้นเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้นำข้อหารือต่าง ๆ มาพิจารณาและกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและครอบคลุมกับบริบทที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน